ฟังวิทยุออนไลน์

หนองคาย เก็บน้ำผึ้งโพรงป่า
 
 
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงป่า ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เริ่มเก็บน้ำผึ้งโพรงป่าที่เลี้ยงแบบธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ขณะนี้เริ่มให้น้ำผึ้งที่มีคุณภาพสมบูรณ์แล้ว
ที่สวนยางพาราและสวนผลไม้ ในเขตบ้านไทรงาม ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงป่า ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้เริ่มเก็บน้ำผึ้งโพรงป่า จากกล่องไม้ที่เลี้ยง ที่ตั้งกระจายไว้ภายสวนยางพาราของตนเอง ถือเป็นการเริ่มต้นของฤดูกาลเก็บน้ำผึ้งโพรงป่า ของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงป่า ซึ่งจากการเก็บน้ำผึ้งในครั้งนี้ พบว่ารวงผึ้งอยู่ในกล่องไม้ที่มีการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ขณะนี้เริ่มมีความสมบูรณ์ของน้ำผึ้งแล้ว บางกล่องมีความสมบูรณ์ของน้ำผึ้งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังพบว่ามีกล่องที่ยังมีปริมาณน้ำผึ้งไม่ถึงร้อยละแปดสิบเพราะบางรวงยังมีตัวอ่อนของผึ้งอยู่เกินร้อยละ 20 ซึ่งความสมบูรณ์ของน้ำผึ้งขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการตั้งกล่องไม้เลี้ยงผึ้งไว้ ถ้าจุดที่ตั้งลังไว้มีความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้โดยเฉพาะไม้ผล เช่นใกล้สวนเงาะ สวนลำไย ก็จะทำให้ปริมาณน้ำผึ้งมีความสมบูรณ์พร้อมก่อนจุดอื่น ๆ
สำหรับผึ้งโพรงป่านั้น ปกติก็จะทำรังตามโพรงของต้นไม้ในป่า หรือทำรังในโพรงใต้ดิน แตกต่างจากผึ้งหลวงที่ทำรังบนต้นไม้ ขนาดตัวผึ้งโพรงป่าก็จะมีขนาดเล็กกว่าผึ้งหลวง ที่สำคัญไม่ดุมากเหมือนผึ้งหลวง ซึ่งการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าของชาวบ้านไทยเจริญ นั้น จะเลี้ยงแบบวิธีธรรมชาติ คือสร้างกล่องไม้หรือลังไม้ ไม่จำกัดขนาด แต่ส่วนใหญ่จะกว้าง 35 ซม. ยาว 50 ซม. และสูง 40 ซม. เจาะรูขนาดเล็กบริเวณด้านล่างกึ่งกลางด้านที่เป็นความกว้างของกล่อง ด้านบนกล่องจะเป็นฝาปิด ที่สามารถปิด-เปิดได้ ซึ่งเป็นส่วนที่ผึ้งที่ทำรัง ไม่ได้มีคานไม้สำหรับให้ผึ้งทำรัง หลังทำกล่องไม้เสร็จก็จะทาด้วยเสน่ห์ผึ้ง (ทำจากรังผึ้งที่นำไปต้มแล้วมาปั้นเป็นก้อน)มาทาที่กล่องไม้ให้ทั่วลนด้วยไฟเพื่อให้เสน่ห์ผึ้งซึมเข้าเนื้อไม้ เน้นรูที่ให้ผึ้งเข้า ด้านในกล่องส่วนบน และฝาลัง จากนั้นก็จะนำกล่องไม้ไปตั้งตามป่าเพื่อล่อผึ้งให้เข้ามาทำรัง ตั้งไว้ประมาณ 2 – 3 วันก็จะมีเข้ามาทำรังในกล่องที่ล่อไว้ เมื่อเห็นผึ้งเข้ามาในกล่องมากพอแล้วก็จะนำกล่องมาตั้งเลี้ยงไว้ในจุดที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณหลังบ้าน หรือสวนยางข้างบ้าน ที่สามารถดูแลได้ไม่ให้ใครเข้ามาขโมย ไม่ต้องหาอะไรให้ผึ้งที่เลี้ยงกิน ผึ้งจะออกไปหาอาหารตามธรรมชาติเอง คนเลี้ยงมีหน้าที่ทำกล่องเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผึ้งได้แยกตัวออกจากรังที่มีผึ้งจำนวนมากมาทำรังที่กล่องใหม่ ช่วงระยะเวลาที่ล่อผึ้งเข้ารังคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นช่วงที่ผึ้งจะเข้ากล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงดีที่สุด และเป็นช่วงที่ผึ้งจะแยกไปตามกล่องไม้ได้มากที่สุด คือจาก 1 กล่อง แยกเพิ่มเป็น 6 กล่อง จากนั้นในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ที่ถือเป็นเดือนห้า ก็จะเป็นช่วงเก็บน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุด หลังเก็บน้ำผึ้งเสร็จแล้วก็จะปล่อยผึ้งคืนสู่ป่า เพราะในช่วงฤดูฝนจะไม่ค่อยมีเกสรดอกไม้ที่ถือเป็นอาหารของผึ้ง หากเราเลี้ยงไว้ผึ้งจะตาย ดังนั้นจึงต้องให้ผึ้งกลับไปอยู่ในธรรมชาติในช่วงนั้นก่อน เมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะไม่มีการนำกล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงไปล่อ ผึ้งที่เคยเลี้ยงก็จะกลับมาที่กล่องไม้เอง เป็นวัฏจักรเช่นนี้ทุกปี
กล่องไม้ที่เลี้ยงผึ้ง 1 กล่องจะให้น้ำผึ้งตั้งแต่ 3 – 15 ขวด (750 มล.) ขึ้นอยู่กับขนาดของกล่องไม้ที่ใช้เลี้ยงและจำนวนผึ้งเข้าไปทำรัง โดยเฉลี่ยแล้ว 1 กล่องจะได้น้ำผึ้งประมาณ 8 – 10 ขวด ส่วนเรื่องตลาดนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทุกปี ไม่พอขาย โดยน้ำผึ้งที่ได้จะนำมารวมกันขายที่ร้านค้าของกลุ่มสหกรณ์ฯ ใครต้องการหรือมีลูกค้าก็มาซื้อที่ร้านค้าฯได้เลย เป็นการช่วยกันขาย ราคาขายอยู่ที่ขวดละ 300 – 400 บาท ถือเป็นราคาที่ดี ปีนี้มีผึ้งโพรงที่เข้ากล่องที่เลี้ยงแล้วประมาณเกือบ 2,000 กล่อง จะทำให้ผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 16,000 ขวด นอกจากจะขายน้ำผึ้งเป็นขวดแล้ว ยังมีการขายตัวอ่อน และรังผึ้งแบบสด ๆ อีกด้วย
นายถนัด สายมายา รองประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า การเก็บน้ำผึ้งครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นเก็บครั้งแรกในการเลี้ยงผึ้งรอบนี้ บางกล่องก็ยังให้น้ำผึ้งไม่เต็มที่ ซึ่งปกติในส่วนของตนจะเก็บน้ำเดือนเมษายน ที่มีน้ำผึ้งสมบูรณ์เต็มที่แล้ว คือจะมีน้ำผึ้งประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ตัวอ่อนของผึ้งไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ตอนนี้ก็ถือว่าเริ่มเก็บน้ำผึ้งได้แล้ว ตัวอ่อนของผึ้งบางคนก็นิยมรับประทาน ซึ่งจะขายกิโลกรัมละ 300 บาท แต่ไม่คุ้ม ปล่อยให้แก่เป็นตัวผึ้งดีกว่า ผึ้งที่เลี้ยงทั้งหมดเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่มีการให้อาหาร ผึ้งจะหากินเองตามธรรมชาติ ส่วนที่เรียกว่าน้ำผึ้งเดือนห้า ที่ใช้ในการทำยา เป็นน้ำผึ้งที่บริสุทธิ์ จะเป็นน้ำผึ้งที่เก็บในเดือนเมษายน ซึ่งน้ำผึ้งที่เลี้ยงก็จะเก็บได้จนถึงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี และเป็นการเก็บน้ำผึ้งเพียงปีละครั้งทำนั้น
ผู้ที่สนใจน้ำผึ้งธรรมชาติ หรือสนใจการเลี้ยงผึ้งสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับนายอาโน ร่มเย็น ประธานกลุ่มฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 080-0036040 หรือนายถนัด สายมายา รองประธานกลุ่มฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 098-1684338.
------------------------------------------
จุมพล สายแวว / ภาพ - ข่าว
วิภาดา รัตนโรจนา / บรรณาธิการข่าว

image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar