ฟังวิทยุออนไลน์

หนองคาย แห่เทียนพรรษาท่ามกลางสายฝน

....หนองคาย แห่เทียนพรรษาท่ามกลางสายฝน....

เทศบาลเมืองหนองคาย ร่วมกับวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริม ฟื้นฟู และอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมท้องถิ่น และส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดหนองคาย ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาเป็นระยะ ๆ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (1 สิงหาคม 66) ณ ปะรำพิธีบริเวณถนนประจักษ์ศิลปาคม หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองหนองคาย นายมราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2566 ขณะที่ประธานกำลังกล่าวเปิดงานฝนก็เริ่มตกลงมา และตกต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ จนถึงขบวนสุดท้ายฝนก็ยังคงตกอยู่ แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคใด ๆ แต่ละขบวนยังคงจัดรูปแบบขบวนตามรูปแบบที่กำหนดไว้ และมีการฟ้อนรำที่สวยงามเช่นเดิม

นายอุรุยศ เอียสกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย กล่าวว่า เทศบาลเมืองหนองคาย ร่วมกับวัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย ส่วนราชการต่าง ๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จัดให้มีงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2566 ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริม ฟื้นฟู และอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นให้รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความสามัคคี ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดหนองคาย ประชาชนได้เห็นความสำคัญด้านพระพุทธศาสนา และรักษาไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามแก่ท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

ประเพณีแห่เทียนพรรษา ก่อนถึงวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี) พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะถือโอกาสเข้าวัดทำบุญ ถวายเทียนพรรษา ตามวัดวาอารามต่าง ๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบัน การถวายเทียนได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับเหตุการณ์ เป็นการถวายหลอดไฟฟ้าแทนแล้วก็ตาม ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นการนำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา ชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างเอิกเกริกสนุกสนาน และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี ทั้งนี้นับว่าเป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น

เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลาย ลงบนต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น มีขบวนต้นเทียนเข้าร่วมในครั้งนี้จำนวน 7 ขบวน.

-------------------------------------

จุมพล / ภาพ - ข่าว


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar