ฟังวิทยุออนไลน์

เพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำผ่าน 5 กระทรวง รับน้ำหลาก น้ำแล้งปี 65/66

จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงนี้และมีแนวโน้มเผชิญฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนมู่หลาน อาจส่งผลกระทบ         ในหลายพื้นที่ นายกฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
         นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติ งบกลางวงเงิน 4,019.80 ล้านบาท          เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง         ปี 2565/2566 จำนวน 1,361 รายการ โดยพื้นที่เป้าหมายในโครงการ คือ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย/ ภัยแล้งตามที่ สทนช. และหน่วยงาน           ที่เกี่ยวข้องเสนอ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยเร่งด่วน ตามที่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ใน 5 กลุ่มประเภทโครงการได้แก่
1. การซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ เช่น ซ่อมแซม/ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่ง/ระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีโทรมาตร เป็นต้น
2. การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำและการจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ
3. การขุดลอกคูคลอง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
4. การเตรียมความพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ         เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำเครื่องมือเครื่องจักร ยานพาหนะขนย้าย
5. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง  เป็นการจัดหาแหล่งน้ำรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป เช่นสระ /อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดเจาะบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น
โดยมอบหมายให้กับ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย
• กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำนวน 32 รายการ วงเงิน 23.31 ล้านบาท
• กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม         โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จำนวน 2 รายการ วงเงิน 76.45 ล้านบาท
• กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 411 รายการ วงเงิน 1,190.43 ล้านบาท
• กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 139 รายการ วงเงิน 432.91 ล้านบาท
• กระทรวงมหาดไทย โดยเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล เทศบาลนคร จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล รวม 777 รายการ วงเงิน 2,296.70 ล้านบาท
ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนเฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายพื้นที่ พบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จนล้นตลิ่ง      ในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่ง         ในวันที่ 12 ส.ค. 65  ทั้งนี้มวลน้ำดังกล่าว จะไหลมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 700 - 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 10 – 16 ส.ค.65  อาจมีน้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 18.00-21.00 น. ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.80 – 2.10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ)         ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ดังนั้นขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง
        ในพื้นที่ กทม. ได้สั่งการให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ โดยให้สำนักการระบายน้ำ กทม. ติดตั้งตามเขตต่าง ๆ 14 จุดสำคัญทั่ว กทม. ที่มีความเสี่ยง เพื่อเร่งระบายน้ำ บรรเทาสถานการณ์น้ำท่วมขัง

กรมอุตุฯประกาศเตือน พายุโซนร้อน “มู่หลาน”
กรมอุตุฯออกประกาศเตือนฉบับที่ 4 พายุโซนร้อน “มู่หลาน” คาดขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน วันที่ 11 ส.ค. 65 ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ช่วงวันที่ 11-13 ส.ค.นี้ เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

วันที่ 11 สิงหาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 12 สิงหาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลกตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 13 สิงหาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลกตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี และบึงกาฬ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่นให้ทำงานเชิงรุก เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หากอะไรที่ช่วยได้หรืออยู่ในอำนาจของท้องถิ่นให้รีบดำเนินการ ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้สนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นอย่างบูรณาการ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar