ฟังวิทยุออนไลน์

มาตรการ Quick Win และมาตรการต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

ครม.ได้เห็นชอบ 12 มาตรการเร่งด่วน Quick Win เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ตามมติบอร์ดเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ มุ่งแก้ไขทั้งต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบด้านการเกษตร การเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs และวิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งผลการประเมินเครื่องบ่งชี้วิกฤติเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน
1. วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ อาทิ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การตรึงราคาก๊าซ NGV การตรึงราคาน้ำมันดีเซล รวมไปถึงการออกมาตรการรักษากำลังซื้อให้แก่ประชาชนต่าง ๆ อย่าง โครงการคนละครึ่ง รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2. วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตร สินค้าเกษตรและต้นทุนอาหารราคาพุ่งสูงขึ้น โดยมีการแก้ปัญหาเบื้องต้น อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.
3. วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่แม้ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เริ่มลดลง เนื่องจากคนเริ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายก็ปรับเพิ่มตาม โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงมีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs อาทิ จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2565 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ)

4. วิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถ           ในการแข่งขัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับรองวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวรัฐบาลได้เจรจาความตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้าที่มีศักยภาพ การลงทุน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การลงทุนในโครงสร้างภายในประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมแนวเหนือ ใต้ ตะวันตก และตะวันออก เป็นต้น
12 มาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ
1. มาตรการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง (ตอนบ่ายและช่วงค่ำ)
2. ลดการใช้ไฟฟ้าของหน่วยงานราชการ
3. เร่งรัดการบังคับใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. ....
4. จัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือน
5. พิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ อันเนื่อง            มาจากราคาน้ำมันแพง
6. โครงการบริหารจัดการปุ๋ย ประกอบด้วยการชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกร สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้สถาบันเกษตรกร
7. โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ปุ๋ยแพง
8. โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อ
9. แก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)
10. มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs
11. การบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรในหลายมิติ เช่น ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและฐานข้อมูลพื้นที่ทางการเกษตร ฐานข้อมูลหนี้เกษตรกร
12. การขยายวัตถุประสงค์ของมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการ ปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้วงเงินจาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ
   ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร (สิ้นสุด ก.ย. 65) / การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน (สิ้นสุด ส.ค. 65) / มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. / การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ / โครงการพักทรัพย์พักหนี้ / โครงการคนละครึ่ง / มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) / และ การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
   ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการระยะเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีได้ขอให้แต่ละกระทรวงเน้นว่าสามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิมหรือไม่และพิจารณาดำเนินการไปตามห้วงเวลาที่เหมาะสมอย่างรอบคอบให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar