ฟังวิทยุออนไลน์

ปีใหม่ปลอดภัย มาตรการดูแลผู้ใช้รถ ใช้ถนน

สำหรับเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลําเนาคับคั่ง โดยคาดว่าจะมีการเดินทางกลับและการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
สถิติอุบัติเหตุย้อนหลัง 3 ปีในช่วงปีใหม่
ปี 2563 มีอุบัติเหตุทางถนน 3,421 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 3,499 คน ผู้เสียชีวิต 373 คน
ปี 2564 มีอุบัติเหตุทางถนน 3,333 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 3,326 คน ผู้เสียชีวิต 392 คน
ปี 2565 มีอุบัติเหตุทางถนน 2,707 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,672 คน ผู้เสียชีวิต 333 คน
ในปี 2566 รัฐบาลมี แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดทำโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ที่จะบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้น ตั้งเป้าลดจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ (admit) ไม่น้อยกว่า 5% ของค่าเฉลี่ยอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง และตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตในพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566
โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลักษณะ “ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach)”เพื่อควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านคน ถนน ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดประกอบไปด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการบริหารจัดการ เช่น จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ระดับส่วนกลาง จังหวัด กรุงเทพมหานคร อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการมาตรการเชิงรุก ได้แก่ การประชาคมชุมชน/หมู่บ้าน มาตรการเคาะประตูบ้าน ด่านครอบครัว ด่านชุมชน และการจัดกิจกรรมทางศาสนา 1 อำเภอ 1 กิจกรรม
2. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม เช่น สำรวจ ตรวจสอบลักษณะกายภาพของถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย
3. ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ เช่น กำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถโดยสาร และพนักงานประจำรถให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด และการตรวจสอบสภาพรถตามที่กฎหมายกำหนด กวดขันกับผู้ใช้รถกระบะที่บรรทุกน้ำหนักเกิน และรถบรรทุกขนาดเล็กที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย และเข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถเช่าของผู้ประกอบการธุรกิจให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย
4. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เช่น บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ดำเนินการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้นภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่แนวทางความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในชุมชน/หมู่บ้าน และสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ หอกระจายข่าว เสียงตามสาย และวิทยุชุมชน และ
5. การช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการติดต่อสื่อสาร การประสานงาน และการแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเครือข่ายและดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน
แนวทางการดําเนินงานเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566
1. ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2565 – 21 ธันวาคม 2565
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจัดทําแผนงานการรณรงค์และประชาสัมพันธ์พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง พร้อมทั้งให้ผู้นําชุมชนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน ข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางถนน ในชุมชน/หมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบและปฏิบัติ
2. ช่วงการดําเนินงาน ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2565 – 11 มกราคม 2566 แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
2.1 ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2565 – 28 ธันวาคม 2565
2.2 ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566
2.3 ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2566 – 11 มกราคม 2566
โดยมีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 เพื่ออํานวยการ ควบคุม กํากับ ดูแล และติดตามประเมินผลการดําเนินงานตามแผนปฏิบัติการช่วงเทศกาล ปีใหม่ จัดตั้งจุดตรวจเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสํานักงานการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิต่าง ๆ จัดเตรียมความพร้อมการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่ออํานวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่
กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขประจำจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2565 – 5 มกราคม 2566 วิเคราะห์ข้อมูล การบาดเจ็บและส่งต่อให้กับศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด เพื่อวางแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุในพื้นที่ โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง สำหรับโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้เตรียมการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอ พร้อมทั้งรายงานข้อมูลในระบบรายงาน ส่วนทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ที่จะให้การช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งต้องเข้าถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว ขอให้ดำเนินการภายใต้มาตรการความปลอดภัยของรถพยาบาลและผู้ปฏิบัติงาน
กรมควบคุมโรค ได้กำหนดแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ภายใต้คำขวัญรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” โดยเน้นป้องกันและลดผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยมาตรการ 3 ด่าน 1. ด่านตนเอง 2. ด่านครอบครัว และ 3. ด่านชุมชน
กรมการปกครอง ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แจ้งหน่วยราชการ เน้นย้ำมาตรการช่วงปีใหม่ 5 ข้อ อย่างเคร่งครัด
1. เน้นย้ำเรื่องเวลาเปิด - ปิดสถานบริการ การห้ามไม่ให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนดเข้าใช้บริการ รวมถึงห้ามนำอาวุธ ยาเสพติดเข้าไปในสถานประกอบการ
2. ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ระบบความปลอดภัย รวมถึงระบบป้องกันอัคคีภัย เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
3. คำนึงถึงจำนวนผู้เข้าร่วมใช้บริการ ไม่ให้แออัดจนเกินไป ป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการเสียชีวิตจากการเบียดของคนจำนวนมาก เช่นที่กรณีต่างประเทศ
4. เน้นย้ำมาตรการด้านสุขลักษณะป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
5. ในช่วงการจัดงานรื่นเริง เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2566 ให้ทุกจังหวัด จัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัย และไม่ให้เกิดความเสียหายและทรัพย์สินของประชาชน

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar