ฟังวิทยุออนไลน์

ครม. เห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 เน้น “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม”

ครม.เห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 66 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน 7 แนวทาง ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองโดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์ ดังนี้
แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566
1. ประชาสัมพันธ์เชิงรุก และให้แจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วัน ทุกพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน โต้ตอบ Fake News ต่อสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนสับสน และเน้นสื่อสารผ่านช่องทางใหม่อย่าง TikTok ที่เข้าถึงเยาวชนได้ง่าย
2. ยกระดับมาตรการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ อาทิ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง ควบคุมฝุ่นละอองทั้งในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่าจากยานพาหนะ และภาคอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมของบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องมือพร้อมใช้งานตลอดเวลา นอกจากนี้ให้ภาคเอกชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายซึ่งจะช่วยให้ปริมาณฝุ่นละลองขนาดเล็ก (PM2.5) ลดลง
3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิง อาทิ ลดการเผาในที่โล่ง พร้อมทั้งการจัดเก็บเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาหรือมีการเผาซ้ำซาก ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซัง ฟางข้าว และ ใบอ้อยไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าเพื่อลดการเผา
4. กำกับดูแลการปฏิบัติการเชิงรุก ติดตามผลการดำเนินการ ประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การลงพื้นที่ควบคุมและลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จัดทำแพลตฟอร์มศูนย์รวมข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลหรือแจ้งเหตุด้านมลพิษ และติดตามการแก้ไขปัญหา ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
5. ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟเพื่อเป็นข้อมูลคาดการณ์ พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงสำรวจและตรวจสอบความสมบูรณ์ของเครื่องมือเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการเกิดไฟ
6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหา หมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจัดทำ Roadmap และกำหนด เป้าหมายการลดจำนวนจุดความร้อน/พื้นที่เผาไหม้ในภูมิภาคอาเซียน และยกระดับความร่วมมือในกรอบคณะกรรมการชายแดนและจังหวัดคู่ขนานเพื่อกำกับควบคุมแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะการเผา
7.ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในวางแผน ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง สร้างความเข้าใจ พร้อมเปิดโอกาสและช่องทางให้มีการรายงานผล การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่องทางสำหรับร้องทุกข์ เพื่อแจ้งเหตุการณ์เกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่ง

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar