ฟังวิทยุออนไลน์

การเปลี่ยนผ่านรถประจำทางสู่พลังงานไฟฟ้าทันสมัย ลดฝุ่น PM 2.5

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานโดยเฉพาะในเขตเมือง คือการปล่อยไอเสียของรถยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) ถือเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือก เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อีกทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนผ่านยานยนต์ทั่วโลกที่หันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น
ล่าสุด ครม.เห็นชอบ โครงการเปลี่ยนรถเมล์เอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่ กทม. สำหรับโครงการโครงการเปลี่ยนรถเมล์ไฟฟ้ารถร่วมบริการเอกชน ถือเป็นการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรถโดยสารสาธารณะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ แบตเตอรี่สู่มอเตอร์ไฟฟ้า ในการขับเคลื่อน ทำให้ไม่มีการปล่อยไอเสียหรือก๊าซเรือนกระจกไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถูกกว่าน้ำมัน เมื่อไม่มีเครื่องยนต์จึงบำรุงรักษาง่าย และการทำงานของระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเงียบกว่าเครื่องยนต์ดีเซล ลดมลภาวะทางเสียงอีกด้วย
ทั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคันต่อ (tCO2eq) หรือ 500,000 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี 2564-2573 ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนได้เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีความทันสมัยปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน ซึ่งช่วยให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมคุณภาพ ชีวิตและสุขภาพของประชาชนดีขึ้น
การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศเปิดโอกาสให้ภาคส่วนในประเทศไทยสามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส ช่วยต่อยอดการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เป็นไปตามแผนนโยบายพลังงาน และยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติ รองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar