ฟังวิทยุออนไลน์

อนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ

ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ เพื่อให้สอดรับกับ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระท้าความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมและสร้างความปลอดภัยให้สังคม
พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565
มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อแก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม พบว่า ผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เมื่อพ้นโทษแล้ว จะกระทำความผิดซ้ำ ในระยะเวลา 3 ปี มากกว่าร้อยละ 50 จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้น
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด
คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ คอยกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ เป็นต้น
2. มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อป้องกัน ไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ ด้วยมาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่นๆ ที่รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง
3. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ
หากมีเหตุให้เชื่อว่านักโทษเด็ดขาดจะกระทำความผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษได้ เช่น ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ห้ามเข้าเขตกำหนด ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชนที่ตนพักอาศัย ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด เป็นต้น
4.มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษแก่นักโทษเด็ดขาด หากศาลเห็นว่ามีเหตุเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะไปกระทำความผิดซ้ำ
5.การคุมขังฉุกเฉิน
ป้องกันผู้ถูกเฝ้าระวังก่อเหตุฉุกเฉิน โดยเมื่อมีกรณีนี้พนักงานอัยการจะร้องขอศาลให้สั่งคุมขังฉุกเฉินผู้ถูกเฝ้าระวังได้ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
ภายหลังพ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ครม.จึงได้อนุมัติร่างกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน พ.ศ. ... เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน เป็นต้น
โดยจะมีผลกับนักโทษขั้นเด็ดขาด ได้แก่ กลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15ปี การพาบุคคล อายุ 15-18 ปี เพื่อการอนาจาร การพาผู้ผู้กระทำความผิดต่อชีวิต เช่น การฆ่าผู้อื่น การฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์
ผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย เช่น ทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสโดยเหตุฉกรรจ์
ผู้ที่นำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่
โดยมีคณะกรรมการประจำเรือนจำในแต่ละเรือนจำ ทั้งผู้บัญชาการเรือนจำและเจ้าพนักงานเรือนจำ ไม่ต่ำกว่า 5 คน ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองข้อมูลจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาด และให้ความเห็นว่านักโทษเด็ดขาดสมควรใช้มาตรการเฝ้าระวังใด รวมทั้งเสนอวิธีการและระยะเวลาในการใช้มาตรการที่เหมาะสม โดยกรมราชทัณฑ์จะพิจารณารายกรณี 2 ปีก่อนปล่อยตัว
อย่างไรก็ตาม หากเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะไปทำความผิดและไม่มีมาตรการอื่นป้องกันให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการภายใน 15 วัน เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งใช้มาตรการคุมขังผู้ถูกเฝ้าระวัง
หากผู้ถูกเฝ้าระวังจะไปกระทำความผิดซ้ำ และเป็นเหตุฉุกเฉิน โดยผู้ถูกเฝ้าระวังมีลักษระต้องสงสัยที่จะก่อเหตุร้าย ทั้งมีอาวุธหรือวัตถุที่เป็นอันตราย ให้พนักงานคุมประพฤติเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลในท้องที่ ให้ศาลมีคำสั่งให้คุมขังฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมง

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar