ฟังวิทยุออนไลน์

APEC2022 : โชว์ศักยภาพไทยสู่สายตาชาวโลก สานต่อความสำเร็จ APEC สู่ โอกาสเศรษฐกิจไทย

  Bangkok Goals ความสำเร็จไทยในการประชุม APEC 2022
การจัดประชุม APEC 2022 ครั้งที่ 29  ได้ปิดฉากลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม จากความมือกันของสมาชิก APEC ทั้งหมดที่มุ่งหวังสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แม้จะมีความท้าทายระหว่างสถานการณ์ระหว่างประเทศ แต่ไทยก็สามารถต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ได้ประชุมแบบพบหน้า การประชุมนี้นอกจากจะเป็นเวทีให้การหารือระหว่างผู้นำ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ อย่าง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย เป็นการฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์ ไทยและซาอุดีอาระเบียในรอบ 32 ปี
สำหรับส่วนสำคัญของไทย คือ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ Bangkok Goals on BCG Economy ส่วนนึงของแนวคิดหลักของการจัดประชุมเป็นการ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ที่ส่งเสริมความร่วมมือนำไปสู่การเติบโต สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนซึ่งรวมถึงธุรกิจทุกขนาด ตลอดจนประชาชนทุกคน
การพัฒนาต่อยอดผลสำเร็จของการประชุม APEC 2022
ตลอดระยะเวลาการประชุม ไทยสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ และผลักดันกรอบแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ให้ 20 เขตเศรษฐกิจยอมรับนําไปขับเคลื่อนต่อไป รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือ APEC ให้เป็นเขตการค้าเสรี APEC หรือ FTAAPที่มีข้อตกลงชัดเจนในการอํานวยความสะดวกการค้าการลงทุน และปลอดภาษี เพื่อให้สมาชิก APEC สามารถนําเข้าส่ง – ส่งออกในเขตเศรษฐกิจได้สะดวกมากขึ้นและ APEC Business Travel Card (ABTC) บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปคหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการไทยได้รับ เป็นเสมือนวีซ่าที่ใช้คู่กับหนังสือเดินทาง ให้นักธุรกิจไทยเดินทางไปติดต่อธุรกิจระยะสั้นยังดินแดนของสมาชิกเอเปคได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่า
ไทยได้สร้างความมั่นใจและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ BCG ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศ เชื่อมั่นในศักยภาพของ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ โดยมีมติ ครม.ต่ออายุโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG อีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566 เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่
สำหรับการประชุม APEC CEO SUMMIT 2022 ของภาคเอกชนมีการคาดการณ์ว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว (ภายใน 3- 5 ปี) เช่น การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ มีการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสีเขียว และการลงทุนเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทางราง คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท
อีกทั้งผลพวงจากการประชุมเอเปค 2022 เกาหลีใต้ได้เพิ่มโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลีใต้เพิ่มใน 3 กลุ่มแรงงาน เป็น 15,000 คน ทำให้คนไทยมีโอกาสยกระดับทักษะฝีมือ มีรายได้นำกลับมาพัฒนาประเทศ ซึ่งตลาดแรงงานต่างชาติในสาธารณรัฐเกาหลี นับว่าเป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพและน่าสนใจ เนื่องจากแรงงานต่างชาติได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเทียบเท่าคนในชาติ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูง ทำให้มีแรงงานไทยจำนวนมากเดินทางไปทำงาน จากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 มีจำนวนแรงงานไทยสะสมอยู่ในเกาหลีเป็นจำนวนถึง 12,950 คน
โอกาสคนไทย ส่งสินค้าไทย สู่สากลโลก
นอกจากผลประโยชน์ทางตรงด้านการค้าการลงทุนที่ไทยได้โอกาสเพิ่มขึ้นแล้ว ในด้านทางอ้อมไทยยังได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะ Soft Power ที่ผู้นําหลายเขตเศรษฐกิจหรือแม้แต่ผู้แทน และคณะทํางาน ได้เผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่อาหารการกิน วัฒนธรรม ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ สะท้อนจากรูปแบบการจัดงานที่แสดงความเป็นไทย ทําให้ทั่วโลกที่สนใจการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสินค้าวัฒนธรรมมากขึ้น
ตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบชะลอมไม้ไผ่อันเป็นสัญลักษณ์ไม้ต่อ ให้แก่ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยชะลอมสานไม้ไผ่นี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงภูมิปัญญาไทย ใช้ในการขนส่งสินค้า บรรจุของใช้ยามเดินทาง และใส่ของขวัญสำหรับมอบให้แก่ญาติมิตร จึงทำให้ชะลอมสะท้อนการ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี ทั้งการผสานความเข้มแข็งที่หลากหลายและความพยายามของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าด้วยกันไว้
อีกทั้ง ของขวัญและของที่ระลึก ทั้ง 7 รายการ ล้วนนำเสนออัตลักษณ์ไทย ที่บอกเล่าเรื่องราวและคุณค่า ส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอันสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ อาทิ
1. ภาพดุนโลหะ“รัชตะแสนตอก” (สำหรับผู้นำ) มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดมากว่า 700 ปีบนแผ่นโลหะรีไซเคิล พื้นหลังแสดงลายนูนต่ำ ลวดลาย ‘ชะลอม’ ที่พัฒนาขึ้นจากตราสัญลักษณ์การประชุมส่วนกรอบรูปดุนลายขึ้นเป็น ลายพื้นเมืองล้านนา ซึ่งทั้งภาพและกรอบนี้ใช้วัสดุ โลหะรีไซเคิลสีเงิน (รัชตะ) โดยผ่านการดุนหรือตอกนับแสนครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อภาพ ‘รัชตะแสนตอก’ผลิตจากชุมชนคุณธรรมฯ วัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่
2. กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” (สำหรับคู่สมรส)การดุนลายด้วยการตอกนับหมื่นครั้งต่อหนึ่งชิ้นงาน ด้านในของกล่องบุด้วยผ้าไหมสีแดงชาด ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ เช่นกัน
3. ชุดผลิตภัณฑ์ผ้า “จตุราภรณ์”ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยสีจากเปลือกมะพร้าว อันเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลาย “ชะลอม” ร้อยเรียงขึ้นเป็นลายไทยประจำยามจตุราภรณ์ หรือ "อาภรณ์ทั้งสี่ชิ้น" เชื่อมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย
โดยของที่ระลึกทั้ง 3 รายการ นอกจากตัวผลิตภัณฑ์จะมีที่มาจากแนวคิด BCG แล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ได้ผ่านการออกแบบให้สอดคล้องกัน โดยผลิตจากไม้ยางพาราอบฆ่าเชื้อตามมาตรฐานการส่งออก ประดับโลหะสีเงินฉลุลายตราสัญลักษณ์ APEC 2022 ที่มีความละเอียดอ่อนสวยงาม
ไม่เพียงแต่ของที่ระลึกที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญคือ การนำเสนอวัฒนธรรมไทยผ่าน อาหาร โดยรังสรรค์วัตถุดิบที่โดดเด่นมีคุณภาพจากทุกภูมิภาคของไทยประเทศไทย เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม โดยนำรสชาติของแต่ละภาคมาให้ได้ลิ้มรสมากมาย อาทิ
1. คุกกี้พายสับปะรดจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพจากโครงการพลังชุมชนของ SCG ที่เปลี่ยนขนมคุกกี้ไส้สับปะรดธรรมดา ๆ สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองกลายเป็นของฝากที่ต้องติดมือ มาเป็นขนมรับรองบนโต๊ะประชุมระดับชาติ ที่มีรูปร่างเป็นรูปสับปะรด ชิ้นพอดีคำให้ลิ้มลอง
2. ปลากุเลาตากใบจังหวัดนราธิวาส สินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อและได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา คนทั่วไปขนานนามว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300 - 1,500 บาท

     กล่าวได้ว่า ความสำเร็จหลังการประชุม APEC 2022 ได้จบลง ไทยในฐานะเจ้าภาพครั้งที่ 2 ได้โอกาสแสดงบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ ให้เห็นจุดเด่นของทิศทางการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งการแสดง Soft Power ในมิติต่าง ๆที่ได้นำมาโชว์ให้ผู้นำของนานาประเทศได้ชิม ถือเป็นการเปิดประตูเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสประเทศไทยสามารถสร้างภาพลักษณ์และเม็ดเงินเข้ามาแก่ประเทศไทยได้มากขึ้น


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar