ฟังวิทยุออนไลน์

มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนระยะเร่งด่วน

จากสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้าน อยู่อาศัยในช่วงฤดูร้อนปี 2566 ที่ผ่านมาต่างได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงเห็นถึงความจำเป็นสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วนในส่วนของค่าไฟฟ้า ดังนี้
1. มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ (กลุ่มเปราะบาง)
สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 (4 เดือน) โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2566
• ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ ต่อหน่วย
• ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย

2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน (เดือน พฤษภาคม)
ให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาทต่อราย โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ของประเทศและจะเริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นลดภาระของประชาชนซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย

✴️ โครงสร้างค่าไฟและค่า Ft

สำหรับค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายนั้นประกอบไปด้วย 4 ส่วน แบ่งออกเป็น
1. ค่าไฟฐาน คือ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า เช่น ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบ สายส่ง สายจำหน่าย และการผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงเงินสมทบกองทุน
2. ค่าบริการ คือ ต้นทุนในการอ่านและจดหน่วย การจัดทำและส่งบิลค่าไฟฟ้า ระบบรับชำระค่าไฟฟ้า
3. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft คือ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของการไฟฟ้า ซึ่งจะมีการปรับทุก ๆ 4 เดือน
4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
โดยโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้คิดคำนวณตามสูตรเพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งประกอบไปด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันได้ลดค่า Ft งวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ตามมติ จาก 4.77 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย จากการยอมรับภาระค่า Ft ของ กฟผ.เพิ่มจาก 6 งวด เป็น 7 งวด โดยลดลงมาอีก 7 สตางค์ เพื่อให้อยู่ในกรอบการรับภาระได้ใน 2 ปี ซึ่ง กฟผ.แบกภาระได้ถึงงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2568 เพื่อไม่ให้กระทบผลต่อการกู้เงินและเครดิต กฟผ.

⁉️ ทำไมค่าไฟเดือน เม.ย.66 ถึงแพง?
จากค่าไฟในเดือน เม.ย. 66 ที่ปรับสูงขึ้นเป็นเท่าตัวสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจนมีการเรียกร้องให้รัฐออกมาแก้ปัญหาดังกล่าว ด้าน 3 การไฟฟ้า (กฟน. กฟภ. กฟผ.) ชี้แจงว่าสาเหตุสำคัญ คืออุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้น (ร้อนขึ้น) ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น

💥ตัวอย่าง
- อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากปรับอุณหภูมิแอร์ในห้องที่ 25 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิลง 5 องศาเซลเซียส
- แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส แอร์จะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 15 องศาเซลเซียส
- ดังนั้น แอร์ทำงานหนักขึ้น ใช้ไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

‼️ ค่าไฟแพงเพราะคำนวณค่าเชื้อเพลิงสูงเกินจริง?
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชี้แจงว่า การคำนวณต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นการคำนวณตามหลักเกณฑ์โดยใช้ราคา spot LNG ที่คำนวณในเดือน ก.พ.66 เนื่องจากต้องมีการคำนวณและประกาศค่า Ft ล่วงหน้า ทั้งนี้ หากค่า LNG ในปัจจุบันต่ำกว่าประมาณการจะถูกนำไปหักลดในในรอบ Ft ถัดไปเนื่องจากมีการคำนวณ Ft ทุก 4 เดือน

‼️ ค่าไฟแพงเพราะตั้งกำลังผลิตสำรองสูงเกินไป?
การคำนวณปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศจะมีการประมาณการความต้องการการใช้ไฟฟ้าล่วงหน้า 15 - 20 ปี ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) เพื่อนำไปสู่การวางแผนการสร้างโรงไฟฟ้า และการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า โดยแผน PDP ที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือแผนปี 2561-2580 โดยจะมีการทบทวนแผนทุก 5 ปี เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าคาดการณ์จนถึงปัจจุบันกำลังการผลิตและปริมาณการใช้ไฟฟ้ายังไม่ต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้มีปริมาณสำรองเกินกว่าการใช้จริงราว 36% (ใกล้เคียงกับสิงคโปร์) แม้จะอยู่ในระดับที่สูงแต่ในระยะยาว เมื่อระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระดับปกติ คาดว่า ในปีนี้กำลังการผลิตที่สำรองไว้จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30%
นอกจากนี้ การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวจะหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ โดยจะทยอยลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล สอดรับกับทิศทางการพัฒนาของโลก ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar