ฟังวิทยุออนไลน์

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ เรียกประชุมรัฐสภา ระหว่างรอ กกต.ประกาศรับรองผล

        ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ เรียกประชุมรัฐสภา ระหว่างรอ กกต.ประกาศรับรองผล

จากที่ประชุมครม.วันที่ 23 พ.ค. 66 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เผยถึงไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้กับคณะรัฐมนตรีโดยคาดการณ์ช่วงวัน ดังนี้

• วันที่ 13 ก.ค. วันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลเลือกตั้ง

• วันที่ 20 ก.ค. ครม.พิจารณา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาฯ รวมถึงวันสุดท้ายให้ ส.ส. รายงานตัว

• วันที่ 24 ก.ค. พิธีเปิดประชุมรัฐสภา

• วันที่ 25 ก.ค. เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

• วันที่ 26 ก.ค. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ

• วันที่ 3 ส.ค. เลือกนายกฯ

• วันที่ 10 ส.ค. แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

• วันที่ 11 ส.ค. ถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 66 ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา โดยยังไม่ได้ระบุวันที่เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมมอบให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานองคมนตรี เมื่อมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 หรือ 475 คนแล้ว ให้นำร่าง พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม.83 บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร จํานวน 500 คน แบ่งเป็นจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จํานวน 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวน 100 คน โดยม.84 บัญญัติให้ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมี ส.ส.ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจํานวน ส.ส. ทั้งหมดแล้ว (จํานวน 475 คน) หากมีความจําเป็นจะต้องเรียก ประชุมรัฐสภาให้สามารถดําเนินการเรียกประชุมได้

โดย ม.85 วรรคสี่ บัญญัติให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด โดย กกต. ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศ ผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (ภายในวันที่ 13 ก.ค. 2566)

ประกอบกับ ม.121 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วไป (ภายในวันที่ 27 ก.ค.2566) ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก และ ม.122 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม โดยพระมหากษัตริย์ จะเสด็จพระราชดําเนินมาทรงทํารัฐพิธี เปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทํารัฐพิธีก็ได้

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังทรงเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว จะดำเนินการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในลำดับถัดไป

ความคืบหน้า กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ในส่วนของความคืบหน้าผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 66 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เผยว่า อยู่ระหว่างตรวจสอบก่อนข้อมูลจากหน่วยเลือกตั้งกว่า 95,000 หน่วย ว่ามีหน่วยไหนที่จะต้องมีเหตุสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ออกเสียงลงคะแนนใหม่หรือนับคะแนนใหม่ โดยทาง กกต.พยายามให้ทันในปลายเดือนมิ.ย. 66 ที่คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน

โดยปัจจุบันกกต.มีคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ผ่านมากว่า 280 คำร้อง เกี่ยวกับผู้ที่เลือกตั้งชนะมีประมาณกว่า 20 คน ซึ่งจะต้องตรวจสอบก่อนว่ามีหลักฐานชัดเจนหรือไม่ โดยจะต้องมีการสั่ง 3 อย่างคือ 1. สั่งเลือกตั้งใหม่ 2. สั่งนับคะแนนใหม่ และ 3. สั่งออกเสียงลงคะแนนใหม่ ซึ่งอาจมีผลต่อจำนวน ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อจึงต้องมีการพิจารณาให้รัดกุม

อย่างไรก็ตาม กกต.ตระหนักดีถึงความจำเป็นของการประกาศผลการเลือกตั้งที่จะต้องไม่ช้า แต่ก็มีขั้นตอนทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติโดยจะพยายามทำให้เร็วที่สุด.

------------------------------


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar