ฟังวิทยุออนไลน์

เพิ่มขีดความสามารถ แข่งขันไทยขึ้นอันดับ 30 หนุนการจ้างงานเข้าสู้ภาวะปกติ

เพิ่มขีดความสามารถ แข่งขันไทยขึ้นอันดับ 30 หนุนการจ้างงานเข้าสู้ภาวะปกติ

จากรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ประจำปี 2566 ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก (จากปีที่แล้วอันดับที่ 33 ปรับดีขึ้น 3 อันดับ) โดยมีผลคะแนนปรับขึ้นจาก 68.67 อยู่ที่ 74.54 โดยพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ได้แก่ 1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) 2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) 3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และ 4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งไทยนั้นมีขีดความสามารถ ในการแข่งขันดีขึ้นจากปีที่แล้วในทุกด้าน ดังนี้

1. ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ จากอันดับที่ 34 มาอยู่ที่อันดับ 16 (ดีขึ้น 18 อันดับ) โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนระหว่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ ที่ภาครัฐได้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอย่างมากจากปีก่อน โดยในปีนี้รัฐบาลได้เจรจาความตกลงการเขตค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-อียูซึ่งจะทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อขึ้น

2. ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ จากอันดับที่ 31 มาอยู่ที่อันดับ 24 (ดีขึ้น 7 อันดับ) จากการวางกรอบการบริหารของภาครัฐ การคลังและกฎหมายธุรกิจ อาทิ การร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ กลไกหลักในการขับเคลื่อนการทำงานภาครัฐสู่ระบบดิจิทัล ยกระดับการให้บริการประชาชนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

3. ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ จากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับ 23 (ดีขึ้น 7 อันดับ) จากประสิทธิภาพ ด้านตลาดแรงงานและการเงินของภาคธุรกิจ ที่ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวโดยมีอัตราว่างงานลดลงเหลือ 4.2 แสนคนจากการเติบโตของแรงงาน ในภาคการท่องเที่ยว

4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากอันดับที่ 44 มาอยู่ที่อันดับ 43 (ดีขึ้น 1 อันดับ) ด้วยการพัฒนาของภาครัฐที่วางโครงสร้างด้านเทคโนโลยี อาทิ การยกระดับเทคโนโลยีด้านการแพทย์สู่ระบบสุขภาพดิจิทัล

IMD คืออะไร ทำไมอันดับขีดความสามารถไทยถึงมีความสำคัญ

International Institute for Management Development (IMD) เป็น สถาบันการศึกษาการบริหารธุรกิจ และมีหน่วยงานในสังกัดคือสถาบัน IMD World Competitiveness Center ซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับสากลที่เผยแพร่รายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆโดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้บริหารและข้อมูลเชิงประจักษ์ หากเจาะจงไปที่เขตเศรษฐกิจในสมาชิกประชาคมอาเซียนพบว่ามีเพียง 5 เขตเศรษฐกิจ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการจัดอันดับโดย IMD

อย่างไรก็ตาม จากผลการจัดอันดับภาพรวมของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการปรับตัวซึ่งสำคัญอย่างมาก ต่อภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจและประชาชน สอดคล้องกับธนาคารโลกระบุว่า มาตรการทางการเงินและการคลังของไทย มีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตโควิด ได้ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค อีกทั้งความต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ด้านนายกฯ เชื่อมั่นว่าประเทศไทย จะได้รับสนใจและดึงดูดการค้า การลงทุนจากทั่วโลกส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างโอกาส และรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกระดับ

สภาพัฒน์ฯ เผย “ภาวะสังคมไทย” ไตรมาสแรกของปี 2566

ครม. ได้รับทราบรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจัดอยู่ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้

1. สถานการณ์ด้านแรงงานมีการจ้างงานจำนวน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวในภาคเกษตรกรรมและสาขานอกภาคเกษตรกรรม ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และค่าจ้างในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 โดยอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.05 ถือเป็นสัญญาณที่ดีเข้าสู่ภาวะปกติ

2. หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสี่ปี 2565 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 แต่ยังชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว

3. การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังพบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 124.5 จากโรค มือ เท้าปาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยดีขึ้น

4. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5

5. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีการรับแจ้งคดีอาญา รวมทั้งสิ้น 103,936 คดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสวนทางกับการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนลดลงร้อยละ 7.9

6. การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 203.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจสถานการณ์ทางสังคมพบว่า ประเทศไทยสามารถสร้างโอกาสใน “การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา” โดยเฉพาะสาย มูเตลูของไทยเฉพาะการแสวงบุญซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนมากถึง 10,800 ล้านบาท ซึ่งมีทรัพยากรการท่องเที่ยวแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ มูเตลู ที่เป็นสถานที่ เช่น วัด ศาลเจ้า เทวสถาน และมูเตลู ที่ไม่ใช่สถานที่ เช่น เครื่องรางของขลังและพิธีกรรม

ด้านวิสาหกิจเพื่อสังคมกับการรองรับสังคมผู้สูงวัยในไทย ได้มีองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ เข้ามามีบทบาทช่วยปิดช่องว่างการดูแลผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลไกที่มีความยั่งยืนมากกว่ารูปแบบอื่น โดยตัวอย่างของวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) เช่น การจ้างงาน สุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้านการออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน ที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการออมทางเลือกในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การออมทรัพย์ในรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นทรัพย์สินค้ำประกันเงินกู้หรือชำระหนี้สินให้แก่ธนาคาร โดยรัฐบาลได้ปลดล็อกกฎหมายไม้หวงห้ามและไม้หายากจำนวน 171 ชนิด เพื่อให้สามารถปลูกและตัดขายสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้อย่างเสรี.

-----------------------------------


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar