ฟังวิทยุออนไลน์

รัฐพิธีเปิดสภา 3 ก.ค. 2566 นัดเลือกประธานสภา 4 ก.ค.2566

รัฐพิธีเปิดสภา 3 ก.ค. 2566 นัดเลือกประธานสภา 4 ก.ค.2566

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่ได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2566 เป็นต้นไป ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จพระราชดำเนิน มาประกอบพิธีเปิดสมัยประชุม ณ โถงพิธี ชั้น 11 อาคารรัฐสภา ในเวลา 17.00 น.โดยมีสมาชิกและบุคคลสำคัญ อาทิ คณะทูตานุทูต จากประเทศต่าง ๆ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. รวม 936 คน ที่จะเข้าร่วมรัฐพิธีในครั้งนี้

นอกจากนี้คาดว่าวันที่ 4 กรกฎาคม จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯทั้ง 2 คน โดยมีพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. สมาชิกผู้มีอาวุโสสูงสุดด้วยวัย 89 ปี จะทำหน้าที่ประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อดำเนินเลือกประธานตัวจริง ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้การเลือกประธานสภาฯ มีวิธีการดังนี้

• สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ

• โดยที่การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

• ผู้ถูกเสนอชื่อ แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม

• ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก

• ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

ประธานรัฐสภา มีหน้าที่อะไรบ้าง

• เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา

• กำหนดการประชุมรัฐสภา

• ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา

• รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณของรัฐสภา

• เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก

• แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ

• อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

• เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ หลังสภาฯ มีมติเลือก

• เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

2 พรรค เสนอชื่อชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร

พรรคก้าวไกล : มีรายงานข่าวว่ามติพรรคมีความเห็นเสนอชื่อนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่า พรรคมีตัวเลือกอีก 2 คน คือ ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรค, และธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. กรุงเทพมหานคร แต่ล่าสุดกรรมการบริหารพรรคมีมติส่งนายปดิพัทธ์ชิงตำแหน่งประธานสภา โดยไม่มีใครคัดค้าน

พรรคเพื่อไทยมี 2 แคนดิเดตหลัก : นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน 6 สมัยและหัวหน้าพรรค อายุ 62 ปี และ นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภา 2 สมัย ผู้เป็น ส.ส. มาแล้ว 9 สมัย วัย 65 ปี

แนวทางทั้ง 2 พรรค

พรรคเพื่อไทยยึดตามสูตร 14+1

เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และวงประชุม กก.บห.ร่วมกับ ส.ส.ของพรรค พท. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ยืนกรานให้คณะเจรจาการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท.

ยึดข้อตกลงเดิมของ “ดีล” ตั้งรัฐบาล 8 พรรค คือ สูตร 14+1 ของ 2 พรรคแกนนำ คือ “ก้าวไกล” ได้ 14 เก้าอี้รัฐมนตรี บวก 1 เก้าอี้นายกรัฐมนตรี ถือเป็นเบอร์หนึ่งของฝ่ายบริหาร

ขณะที่ “เพื่อไทย” ได้ 14 รัฐมนตรี บวก 1 เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ โดยยกเหตุผลที่ว่าเสียง ส.ส.ของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยห่างกันเพียง 10 เสียง ควรต้องแชร์เก้าอี้ ผู้นำของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้มีความสมดุล

พรรคก้าวไกลยกเลิกประชุมระหว่างพรรค

นางสาวภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคก้าวไกล แจ้งต่อสื่อมวลชนถึงกรณีการนัดหารือกันระหว่างแกนนำพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับข้อสรุปตำแหน่งประธานสภา ขอเลื่อนออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด โดยการยกเลิกประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังพรรคเพื่อไทยแถลงไม่ยอมถอยกรณีเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าแกนนำทั้งสองฝ่ายเจรจากันไม่ลงตัว.

-----------------------------


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar