ฟังวิทยุออนไลน์

ครม.ส่งไม้ต่อโซลาร์ภาคประชาชน

ครม.รับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิม คือให้ประชาชนนำไฟฟ้า ที่ผลิตได้ส่วนเกินขายคืนในอัตรา 2.20 บาท
ในประเด็นดังกล่าว เคยมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้ระบบ “หักลบหน่วยไฟฟ้า” (Net Metering) คือการนำไฟส่วนเกินที่ผลิตได้ ไปหักลบค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องซื้อไฟ เช่น ปกติค่าไฟอยู่ที่ประมาณหน่วยละ 4 บาท ดังนั้นเมื่อบ้านไหนผลิตไฟส่วนเกิน แทนที่จะขายคืนหน่วยละ 2.20 แต่ให้นำไฟฟ้าส่วนเกินฝากไว้ในระบบ แล้วให้นำไปเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลถัดไป
ปัจจัยที่ไม่สามารถใช้ Net Metering
ด้านเทคนิค จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุลเนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวน และไม่แน่นอน ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานลดลง ทั้งนี้หากมีการผลิตไฟฟ้าไหลย้อน เข้าสู่ระบบโครงข่ายเป็นจำนวนมากจะต้องเปลี่ยนขนาดและพิกัดของอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องมีระบบควบคุมและบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้าและความมั่นคงของ ระบบไฟฟ้าในภาพรวม
ด้านผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม (บ้านที่ไม่ได้ติดโซลาร์) เพราะต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่แปรผันไปตามต้นทุนค่า เชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้ง Solar Rooftop เนื่องจากต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop จะถูกกระจายกลับไปสู่ค่า Ft และยังเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า
ด้านระเบียบ และกฎหมาย การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชน และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งธุรกรรมการซื้อและการขาย โดยการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณ
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิม และหากในอนาคตมีการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมจะศึกษาถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มเติม
รัฐส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า
ในปัจจุบันค่าพลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่นำมาผลิตพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้พยายามสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือก ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และสถานประกอบการลงได้ โดยการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีบริการติดตั้งโซลาร์เซล์ให้กับครัวเรือน ดังนี้
การไฟฟ้านครหลวง (พื้นที่ กทม.และปริมณฑล)
- Size S ขนาด 2-4 kW ประหยัดค่าไฟฟ้า 900-1800 บาท/เดือน
- Size M ขนาด 4-5 kW ประหยัดค่าไฟฟ้า1800-2200 บาท/เดือน
- Size L ขนาด 5-10 kW ประหยัดค่าไฟฟ้า 2200-4400 บาท/เดือน
- Size XL ขนาด 10-20 kW ประหยัดค่าไฟฟ้า 4400 - 8800 บาท/เดือน
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พื้นที่ต่างจังหวัด)
- 3kW กำลังการผลิต 7700 หน่วย/ปี เหมาะสำหรับ ตู้เย็น 1 เครื่อง แอร์ 2 เครื่อง หลอดไฟ 15 ดวง
- 5kW กำลังการผลิต 11700 หน่วย/ปี เหมาะสำหรับ ตู้เย็น 2 เครื่อง แอร์ 4 เครื่อง หลอดไฟ 25 ดวง
- 10 kW กำลังการผลิต 23400 หน่วย/ปี เหมาะสำหรับ ตู้เย็น 4 เครื่อง แอร์ 8 เครื่อง หลอดไฟ 50 ดวง
เปรียบเทียบความคุ้มค่าในการติดตั้งเพื่อลดค่าไฟฟ้า
- 1 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าใช้ประมาณวันละ 4 หน่วย หรือประมาณ 120 หน่วยต่อเดือน
- ยกตัวอย่าง ระบบขนาด 3 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟได้ประมาณวันละ 12 หน่วย (หรือ 360 หน่วยต่อเดือน) หากราคาค่าไฟหน่วยละ 5 บาท จะประหยัดค่าไฟได้ 1,800 บาทต่อเดือน (หรือปีละ 21,600 บาท)
- ค่าติดตั้ง 40,000 - 45,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ที่ติดตั้งมีระยะเวลาคืนทุนโดยประมาณ 6 ปี (หากลงทุนติดตั้งขนาด ที่ ใหญ่ขึ้นจะทำให้ค่าลงทุนต่อ 1 กิโลวัตต์ถูกลง)
ก่อนติดตั้งควรพิจารณาพฤติกรรมการใช้ไฟ
- บ้านมีคนอยู่ช่วงเวลากลางวัน หรือเป็น Home Office, ร้านค้า, ร้านกาแฟ จะได้ใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เต็มที่ น่าติดตั้งใช้งาน คุ้มค่าคืนทุนไว
- มีการใช้อุปกรณ์ที่กินไฟมาก “แอร์ ตู้เย็น ตู้แช่”
- บ้านที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเฉพาะช่วงเวลากลางคืนอาจไม่คุ้มค่า เนื่องจากการจัดเก็บพลังงานส่วนเกินในรูปแบบแบตเตอร์รี่ หรือการขายไฟคืนให้การไฟฟ้ายังมีข้อจำกัด
แนวทางการสื่อสาร
1. ทำความเข้าใจว่าทำไมถึงไม่สามารถคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง (Net metering) ตามจริงได้ มีเงื่อนไขและแนวทางในอนาคตอย่างไร
2. บ้าน/สถานประกอบการแบบไหนที่เหมาะในการติดตั้ง Solar Rooftop
3. นำเสนอตัวอย่างบ้าน สถานประกอบการ สถานที่ราชการ ที่ติดตั้ง Solar Rooftop มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar