ฟังวิทยุออนไลน์

รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินประชาชน

ครม.รับทราบผลของการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ระหว่างเดือน ก.ค 64 - มี.ค. 66 พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนผ่านมาตรการต่าง ๆ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ให้ทุกครัวเรือนพึ่งพาตนเองได้ คนไทยทุกสาขาอาชีพทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นปกติสุข สร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเองและลูกหลาน คือส่วนหนึ่งในความปรารถนาสูงสุด ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับผู้มีรายได้น้อยและ กลุ่มเปราะบางในสังคมเป็นอันดับต้นๆ และทุกมาตรการ/โครงการล้วนเน้นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อาทิ
1. การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย เพื่อผลักดันมาตรการความช่วยเหลือ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และตรงกับความต้องการ
2. การปฏิรูปกฎหมายเพื่อคนจน เช่น แก้ไขกฎหมายขายฝาก และปฏิวัติวิธีคิดดอกเบี้ยใหม่ ทดแทนแบบเดิมที่ใช้มายาวนานเกือบ 100 ปี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ลูกหนี้ เป็นต้น
3. การแก้ปัญหาความยากจนแบบ "ตัดเสื้อให้พอดีตัว" โดยใช้ระบบการบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) มาช่วยออกแบบนโยบายแก้ปัญหาใน 5 มิติพร้อมๆ กัน คือ มิติสุขภาพ - ความเป็นอยู่ - การศึกษา - รายได้ - การเข้าถึงบริการภาครัฐ ทำให้การแก้ปัญหาแม่นยำของแต่ละครัวเรือน ตรงกับความเป็นจริง
สำหรับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมทั้งหนี้สินของผู้ประกอบการ ได้เร่งรัดขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีผลการดำเนินงานในช่วงกรกฎาคม 2564 - มีนาคม 2566 สรุปได้ดังนี้
1. การแก้ไขหนี้สินให้กลุ่มต่างๆ เช่น
(1) ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.6 ล้านราย และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านราย จากการแก้ไข พ.ร.บ.กยศ.ฯ โดยลดเบี้ยปรับจากเดิม 7.5% ต่อปี เหลือ 0.5% ต่อปี และให้ชำระหนี้โดยหักเงินต้นก่อน
(2) การไกล่เกลี่ยหนี้สินลูกหนี้ประชาชนทั่วไป 3.95 ล้านบัญชีคิดเป็นยอดหนี้ 2.98 ล้านล้านบาท
(3) โครงการช่วยเหลือของรัฐ เช่น โครงการทางด่วนแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโครงการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กว่า 280,000 ราย
(4) มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ทั้งหนี้ กยศ.-บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล-สินเชื่อรถยนต์ สำหรับประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีผู้ได้รับผลประโยชน์กว่า 94,328 คน มูลหนี้รวม 23,529 ล้านบาท
(5) มหกรรมแก้ไขหนี้สินครู/บุคลากรการศึกษา มีผู้ได้รับผลประโยชน์กว่า 2,093 คน มูลหนี้รวม 1,614 ล้านบาท
(6) มหกรรมรวมใจแก้หนี้ และแก้หนี้ในระบบออนไลน์ สำหรับ ไกล่เกลี่ยหนี้สินบัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคล-เช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์-จำนำทะเบียน-ที่อยู่อาศัย มีผู้ได้รับผลประโยชน์กว่า 190,000 คน มูลหนี้รวม 24,000 ล้านบาท
2. การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่สำคัญ 13 ฉบับ เพื่อเอื้อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ยหนี้สิน, การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, ลดภาระที่จะเกิดจากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นต้น
3. การเพิ่มแหล่งสินเชื่อที่เป็นธรรม-ดอกเบี้ยที่เหมาะสมให้กับประชาชน เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ เช่น บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งแก้ปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผลมาจากการบูรณาการและความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ล่าสุดองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 สะท้อนการขับเคลื่อนประเทศในทิศทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับประชาคมโลก
แนวทางการสื่อสาร
1. นำเสนอตัวอย่างประชาชนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินกลุ่มต่าง ๆ
2. เปรียบเทียบกฎหมายขายฝากที่มีการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นธรรมมากขึ้น
3. ตัวอย่างมาตรการที่สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar