ฟังวิทยุออนไลน์

นับถอยหลังสู่ “นายก” คนที่ 30 หลังโหวตประธานสภาเสร็จสิ้น

นับถอยหลังสู่ “นายก” คนที่ 30 หลังโหวตประธานสภาเสร็จสิ้น
หลังจาก กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. อย่างเป็นทางการครบเสร็จสิ้นแล้ว กระบวนการถัดไปคือการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 66 ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญ ที่จะทำให้เห็นทิศทางของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในเร็ววันนี้
โหวตประธานสภาแบบไร้คู่แข่ง พร้อมรองประธาน 2 คน
ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) โดยมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมชั่วคราว ซึ่งจำนวน ส.ส.ชุดที่ 26 จากกกต. รับรอง ทั้งสิ้น 500 คน มีเข้ามารายงานตัว รวมทั้งสิ้น 496 คน ก่อน พล.ต.ท.วิโรจน์ ทำการเปิดโหวตเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ คนที่ 2 โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ เป็นประธานสภา โดยไม่มีสมาชิกคนอื่นเสนอชื่อแข่ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 มีคู่ชิงระหว่าง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยทั้งสองต้องแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งจากผลการลงคะแนนปรากฎว่า นายปดิพัทธ์ ได้คะแนน 312 เสียง ส่วนนายวิทยา ได้ 105 เสียง งดออกเสียง 77 เสียง บัตรเสีย 2 ทำให้นายปดิพัทธ์ ได้รับตำแหน่ง รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) เสนอชื่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรค พท. ซึ่งมีผู้รับรองถูกต้องและไม่มีผู้เสนอชื่อแข่งขัน ทำให้นายพิเชษฐ์ได้รับตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2
ทั้งนี้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 8 ระบุว่า เมื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภาได้แล้ว ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว ด้านนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้ส่งมาถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนสู่กระบวนการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเป็นผู้นำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป
เปิดวิสัยทัศน์ประธานสภา นัดถัดไป “เลือกนายก”
หลังการโหวต นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภามติเอกฉันท์นั้น ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่า
ขอบคุณ
 
ส.ส. ที่เสนอชื่อให้มาทำหน้าที่ในครั้งนี้ถ้าได้รับไว้วางใจให้เป็นประธานสภาฯ ยืนยันว่า
1. จะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงให้ไว้กับสมาชิกสภาฯเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
2. จะทำหน้าที่โปร่งใส สุจริต ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมสภาฯ
3. จะกำหนดแนวทางร่วมกับผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ ในการพิจารณาร่างกฎหมาย ญัตติ กระทู้ถามอย่างเป็นระบบ เพื่อเปิดโอกาสให้ส.ส.ทำหน้าที่เต็มความสามารถ
4. จะให้ความสำคัญในการปฏิบัติงานของกรรมาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนทุกกรณี
5. จะร่วมกับส.ส.เพื่อดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ งานของรัฐสภา เพื่อประโยชน์ของฝ่ายนิติบัญญัติ
6. จะทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันพระปกเกล้า ส่งเสริมงานนิติบัญญัติ และสนับสนุนงานทีวี และวิทยุรัฐสภาให้เป็นสถานีของประชาชน ในการส่งเสริมประชาธิปไตยไห้กับทุกภาคส่วนและยังยืนต่อไป
โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้หารือกับกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตรียมการรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ และเตรียมเปิดประชุมร่วมรัฐสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรจะประชุมนัดแรกในวันพุธที่ 12 ก.ค. 66 ซึ่งจะยังไม่พิจารณาโหวตเลือกนายกฯ แต่จะประชุมเพื่อแจ้งให้สมาชิกมาถวายสัตย์ฯ ให้ครบถ้วน และหารือกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 สมัย ส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี กำหนดเป็นวันที่ 13 ก.ค. 66 เวลา 09.30 น.
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ คงจะถามเป็นจำนวนครั้งไม่ได้ เพราะอาจจะโหวตครั้งเดียวแล้วเกิน 376 เสียง หากไม่ครบก็จะต้องพิจารณาประชุมรอบต่อไป โดยจะต้องกำหนดวันและเวลาที่เหมาะสม เพราะรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญเพื่อไปบริหารประเทศ
นับถอยหลัง 7 วัน เปิดตัว “นายก” คนที่ 30
สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 นั้นต้องมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภาซึ่งมีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ประกอบไปด้วย ส.ส. 500 คนที่มาจาก ส.ส. เขต 400 เสียง และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 เสียง และ ส.ว. อีก 250 เสียง จะเป็นผู้ลงคะแนนให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ตามรายชื่อแคนดิเดตของแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเข้ามา ซึ่งจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน
สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา หรือ 376 เสียง โดยปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี
ขั้นตอนการเลือก นายกรัฐมนตรี
1. ส.ส. เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป กรณีนี้หากดูจากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคต่าง ๆ ที่ยังมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมีทั้งหมด 9 คน จาก 6 พรรคการเมือง คือ พรรคก้าวไกล 1 คน, พรรคเพื่อไทย 3 คน,พรรคภูมิใจไทย 1 คน,พรรคพลังประชารัฐ1 คน ,พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน และ พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
2. การเสนอชื่อต้องมีส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้ มากกว่า 1 คน
3. การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการ จะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ
4. ส.ส. 500 เสียง ส.ว. 250 เสียง รวมกัน 750 เสียง ผู้ที่ได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไป จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
5. หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเวลาไว้ 30 วัน หากพ้น 30 วัน ยังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็น นายกฯ
ดังนั้น ระหว่างการเลือกนายกฯ คนใหม่ยังไม่ได้และไม่มีกรอบเวลากำหนดไว้ซึ่งอาจกินเวลาเป็น สัปดาห์ เป็นเดือน หลายเดือน ผู้ที่จะยังคงทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไฟล์ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar