ฟังวิทยุออนไลน์

รัฐบาลเชิญชวนประชาชนผู้มีอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ สมัครร่วม กอช

ครม. รับทราบรายงานประจำปี 2565 และแผนงานของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หลังจากสิ้นปี 2565 กอช. มีสมาชิก 2.516 ล้านคน จากปีก่อน จำนวน 2.495 ล้านคน และมีเงินกองทุน 11,668 ล้านบาท สำหรับแผนดำเนินงานในปี 2566 กอช. มีเป้าหมายดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (2566-2570) เป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิก ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก นำเทคโนโลยียกระดับการให้บริการสมาชิก โดย กอช. คาดการณ์จำนวนสมาชิกและกรอบวงเงินการดำเนินงานระยะ 3 ปีข้างหน้า ดังนี้
ปี 2567 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก 2.64 ล้านคน
กรอบวงเงินงบประมาณ 1,513 ล้านบาท
ปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก 2.70 ล้านคน
กรอบวงเงินงบประมาณ 1,553 ล้านบาท
ปี 2569 คาดว่าจะมีจำนวนสมาชิก 2.76 ล้านคน
ด้วยกรอบวงเงินงบประมาณ 1,592 ล้านบาท
ออม กอช. อีกทางเลือกสู่ “สังคมการออม”
ด้วยรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของสังคมสู่วัยที่จะมีคนชราเพิ่มขึ้น แรงงานลดลง อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจเรื้อรัง จึงได้จัดตั้งระบบการออมเงินทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจขึ้น อาทิ กอช. ระบบการออมภาคสมัครใจซึ่งเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตหลังเกษียณของคนไทย ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันในทุกกลุ่มอาชีพ
สำหรับ “กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)”ตอบโจทย์แรงงานนอกระบบ ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก ต้องมีอายุระหว่าง 15 - 60 ปีไม่มีสวัสดิการบำนาญ หรือสวัสดิการใด ๆ จากรัฐ อาทิ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยในการเป็นสมาชิกนั้นสามารถส่งเงินสะสมเพื่อเป็นเงินออมไว้ใช้หลังอายุ 60 ปีได้ โดยส่งเงินออมเป็นรายเดือน เริ่มออมขั้นต่ำ 50 บาท/ครั้ง สูงสุด 30,000 บาท/ปี โดยสวัสดิการเป็นเงินสบทบจากรัฐบาลเพิ่มอีกด้วย ซึ่งสูงสุดถึง 100% ตามช่วงอายุ ดังนี้
• ช่วงอายุ 15 - 30 ปี รัฐจ่ายเงินสบทบให้ 50% ของเงินฝากสะสม แต่ไม่เกินปีละ 1,800 บาท
• ช่วงอายุ >30 - 50 ปี รัฐจ่ายเงินสมทบให้ 80% ของเงินฝากสะสม แต่ไม่เกินปีละ 1,800 บาท
• ช่วงอายุ >50 - 60 ปี รัฐจ่ายเงินสมทบให้ 100% ของเงินฝากสะสม แต่ไม่เกินปีละ 1,800 บาท
• อายุ 60 ปีขึ้นไป รับเงินบำนาญรายเดือนจาก กอช. ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ขั้นต่ำขึ้นอยู่กับระยะเวลาการออม)
• ดอกผลจากการลงทุน ที่รัฐบาลค้ำประกันผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ12 เดือนของ 7 ธนาคาร
• โอกาสได้รับบำนาญทุกเดือนตลอดชีวิต
โดยสมาชิก กอช. ยังสามารถนำเงินออมในแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/ปี รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อมีเงินออมไว้ใช้ระยะยาว โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nsf.or.th,แอปพลิเคชัน กอช. หรือ ไลน์ กอช. @nsf.th.
สถิติการออมเงินของคนไทย
สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำโครงการ “สำรวจพฤติกรรมการออม และการเข้าถึงบริการทางการเงิน ภาคครัวเรือน” พร้อมกับการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน จากครัวเรือนตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล พบว่าในปี 2563 ครัวเรือนที่มีการออมเงินมีสูงถึงร้อยละ 74.1 และไม่มีเงินออม มีเพียงร้อยละ 25.9
หากเทียบการออมในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 2559 - 2563 พบว่าจำนวนครัวเรือนที่มีการออม มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2563 เพิ่มจากปี2559 ร้อยละ 7.4 (ปี 2559 ร้อยละ 66.7 และปี 2563 ร้อยละ 74.1 ตามลำดับ) สะท้อนให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา สัดส่วน ของครัวเรือนมีการเก็บออมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม หลังพ้นสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หากเทียบก่อนเกิดการระบาดของโควิด 19 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สัดส่วนการออมของคนไทยมี 74.1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และครัวเรือนที่ไม่มีการออมมีถึง 25.9% แต่ปัจจุบัน พบว่า ระดับครัวเรือนที่ไม่มีการออมมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลต่อความสามารถการชำระหนี้
รัฐบาลจึงได้เร่งแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน โดยเฉพาะยกระดับรายได้ การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ ควบคู่กับ การส่งเสริมการออม การลงทุน ผ่านกลไกของกองทุนการออมแห่งชาติหรือ กอช.รณรงค์และเพิ่มแรงจูงใจให้คนไทยให้ออมเงินในระยะยาวลดความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยสนับสนุนให้กลุ่มคนรายได้ปานกลางบริหารรายได้ส่วนหนึ่งมาลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนและความมั่นคง

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar