ฟังวิทยุออนไลน์

การเปลี่ยนผ่านรัฐบาล สู่นายกฯ คนที่ 30

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 201 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เผยแพร่ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2566 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาจึงแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโหวตนายกฯ รอบ 2 “เศรษฐา ทวีสิน” ผ่านฉลุย
สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยผลการลงมติ ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียงเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง แบ่งเป็นจำนวนเสียง สส.ที่ลงมติเห็นชอบจำนวน 330 และ สว.ที่ลงมติเห็นชอบจำนวน 152 เสียง
ย้อนไปในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากผลการโหวต ปรากฏว่าสมาชิกรัฐสภาลงคะแนนเห็นชอบนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 324 เสียง ไม่ชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง ทำให้นายพิธาขาดเสียงสนับสนุนอีก 51 เสียง จึงจะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ
นับถอยหลัง “คณะรัฐมนตรีชุดใหม่”
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยระยะเวลาสู่การ มีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ดังนี้
สัปดาห์ที่ 1 คาดว่าได้รายชื่อ ครม.
สัปดาห์ที่ 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ใช้เวลาตรวจสอบประวัติ ครม.
สัปดาห์ที่ 3 ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ รายชื่อ ครม./ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง/ ถวายสัตย์ปฏิญาณ
แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำภายใน 15 วันหลังถวายสัตย์ปฏิญาณ
โดยนายวิษณุคาดว่า ครม. ชุดใหม่จะเริ่มทำหน้าที่ได้ในช่วงกลางเดือน ก.ย. แต่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือน ก.ย. โดยนายวิษณุย้ำว่าเป็นการคาดคะเนจากประสบการณ์ และเป็นการนับอย่างเร็ว ดังนั้นจึงทำให้การประชุม ครม. ชุดรักษาการยังคงมีอยู่ไปทุกสัปดาห์ แต่อาจมีเรื่องพิจารณาน้อยลง
ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกฯ เผยขั้นตอนถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ดังนี้
1.เมื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะยังไม่เข้าปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เพราะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีและยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ
2.ในระยะนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเดิม จึงยังคงปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไป พร้อมกับคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการชุดเดิม
3.เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือคุณเศรษฐา ทวีสิน คัดสรรบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเสร็จเรียบร้อย จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยคุณเศรษฐา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
4.นายกรัฐมนตรีใหม่พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
5.เมื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จเรียบร้อย จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรี ชุดเก่าเป็นอันสิ้นสุดหน้าที่
พลเอกประยุทธ์ แสดงความยินดีแก่ “นายกฯ คนใหม่”
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยหลังการประชุมครม. ที่ผ่าน โดยแสดงความยินดีกับนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ผ่านการพิจารณาในกระบวนการรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนจะหมดหน้าที่ เมื่อมีครม.ชุดใหม่ มีการถวายสัตย์ ฯ เรียบร้อย และแถลงนโยบายต่อสภาฯ แล้ว
“แสดงความยินดีกับคุณเศรษฐาอีกครั้ง แล้วก็ขอให้ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินในโอกาสต่อไปนะครับ”
สำหรับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า หลายอย่างมีความจำเป็นต้องทำ เพราะด้วยระยะเวลาจำกัด อันไหนทำได้ทำ เช่น การคัดเลือกตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นประธานประชุม ในฐานะประธานคณะกรรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 25 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30 น.
อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลาของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้นอาจกระทบต่อการทำงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะมีการจัดทำเอาไว้ 6 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 - 31 มี.ค. 67 เมื่อเพิ่งได้รับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาทำให้ต้องเผื่อเวลาเอาไว้อีก 2 เดือน เพื่อเริ่มต้นการจัดทำงบประมาณ ปี 2567 พลเอกประยุทธ์ จึงได้อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เป็นเวลา 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 - 31 พ.ค. 67 โดยกำหนดวงเงินที่ส่วนราชการต่าง ๆ จะสามารถใช้จ่ายได้วงเงินไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท
ส่วนการจัดทำปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ล่าสุดสำนักงบประมาณ ได้ปรับปรุงปฏิทินงบประมาณไว้แล้ว โดยเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาได้ทันที ในการประชุมครม. ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการประชุมครั้งแรก ๆ พร้อมทั้งการหารือร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ สำนักงบประมาณสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงการคลัง ด้วย

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar