ฟังวิทยุออนไลน์

เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ น้ำท่วม - น้ำแล้ง
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศระหว่างวันที่ 9 - 11 ส.ค. 66 บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนัก บางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ขณะที่จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 12-14 ส.ค. 66 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
ทั้งนี้ได้ประกาศแจ้งเตือน
- ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนสะสม ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
- ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในช่วงเวลาที่มีฝนฟ้าคะนอง
เฝ้าระวังพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในในช่วงวันที่ 10 – 15 ส.ค. 66 ในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมีจุดเฝ้าระวังพิเศษในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม ปัจจุบันมีระดับน้ำ 9.46 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.54 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50 - 3.50 เมตร และคาดการณ์ระดับน้ำจะมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 11 – 15 ส.ค. 2566
ตัวอย่างพื้นที่เผชิญสถานการณ์น้ำ
น่าน มีฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณน้ำฝนสะสมสูง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอปัว และอำเภอบ่อเกลือ ดินภูเขาอุ้มน้ำไม่ไหว เกิดถล่มพังทลาย ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน สั่งอพยพชาวบ้าน 27 หลังคาเรือน กว่า 100 คน ไปอยู่ในที่ปลอดภัยชั่วคราว จนกว่าสถานกาณณ์จะปกติ
นครพนม มีมวลน้ำที่ระบายมาจากประเทศจีน และ สปป.ลาวทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบหนุนลำน้ำสาขาสายหลัก ได้แก่ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม มวลน้ำที่ล้นตลิ่งเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าว และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ รวมเนื้อที่กว่า 4,000-5,000 ไร่ จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม ต้องเร่งอพยพโค - กระบือกว่า 300 ตัว
ตาก (อ.แม่สอด) พายุฝนตกหนักนานหลายชั่วโมงทั่วพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้น้ำในลำห้วยแม่สอด เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็วชาวบ้านโดยเฉพาะในย่านการค้าย่านใจกลางเขตนคร แม่สอด ต่างไม่มั่นใจในสถานการณ์ต้องรีบสร้างแนวป้องกันร้านค้า ของตนเอง โดยการนำกระสอบทรายมาตั้งเป็นแนวป้องกันน้ำรอบอาคารร้านค้า แม้จะยังไม่เกิดน้ำท่วมขึ้นก็ตาม
การบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง
กรมชลประทาน โดยดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดี เผยถึงการเตรียมรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า กรมชลประทานได้บูรณาทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กนอช.) ติดตามสถานการณ์น้ำและปรากฏการณ์เอลนีโญ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยได้กักเก็บสำรองน้ำตั้งแต่ต้นฤดูฝนที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ โดยจะปรับลดการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำต่างๆทันทีเมื่อมีฝนตก พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนด้วยการใช้น้ำฝนเป็นหลักใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น
เตรียมรับมือ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ”
ด้านองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) คาดการณ์ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทะลุร้อยละ 90 โดยจะเห็นสัญญาณความแห้งแล้งชัดเจนมากขึ้นช่วงเดือน ต.ค.66 กระทบยาวไปจนถึงเดือน มี.ค. 67 อาจทำให้ภาคเกษตรกรไทยต้องเผชิญสถานการณ์น้ำที่ยากลำบากมากขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากปรากฎการณ์ดังกล่าว กรมชลประทานบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการทำนาปีในที่ดอนนั้น ได้ให้เกษตรกรชะลอการปลูก จนพ้นภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งขณะนี้ได้พ้นภาวะฝนทิ้งช่วง และฝนเริ่มตกปกติแล้ว เกษตรกรที่ดอนสามารถเริ่มให้ทำนาปีตั้งแต่เดือนส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามวิถีชีวิตเกษตรกรชาวนาดั่งเดิมที่ว่า “ปลูกวันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ”
ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้มีการปลูกข้าวนาปีไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนส.ค.-ก.ย.66 นี้ กรมชลประทาน ขอความร่วมมือให้งดทำนาปีต่อเนื่อง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2566/67 และอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงปลายฤดูฝนได้ พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและกักเก็บน้ำไว้ในแหล่งน้ำของตนเอง ให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณ ฝนตกสะสมน้อยกว่าค่าปกติก็ตาม แต่ยังคงมีบางพื้นที่อาจประสบปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นจึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้กรมชลประทานปฏิบัติตาม 6 มาตรการในการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของกรมชลประทาน ซึ่งสอดคล้องกับ 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ของ กอนช. อย่างเคร่งครัด โดยกรมชลประทานมั่นใจว่า วางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับ การอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้ และฤดูแล้งปี 2566/67
ภาพรวมสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก
จากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่ามีปริมาณน้ำรวมกัน 10,361 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การ 3,665 ล้าน ลบ.ม. และสามารถรับน้ำได้อีก 14,510 ล้าน ลบ.ม.
โดยกรมชลประทาน เร่งกำชับให้สำนักงานชลประทาน ทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ให้มีการจัดสรรน้ำ พร้อมสำรวจความมั่นคงของอาคาร คันดิน ประตูระบายน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ และดำเนินการกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การระบายน้ำเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการสื่อสาร
1. นำเสนอข้อมูลสภาพอากาศการเตรียมความพร้อม การเฝ้าระวัง (ก่อนเกิดภัย)
2. การเข้าไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบในพื้นที่เกิดน้ำท่วม
3. การบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar