ฟังวิทยุออนไลน์

เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำเตรียมรับภัยแล้ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศแจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 5 – 10 ก.ย. 66 เนื่องจาก ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 5 – 10 ก.ย.66 ดังนี้
1. ภาคเหนือ
จ.เชียงใหม่ (อ.อมก๋อย)
จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน)
จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ)
จ.แพร่ (อ.ร้องกวาง)
จ.น่าน (อ.ปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว)
จ.พิษณุโลก (อ.นครไทย และเนินมะปราง)
จ.เพชรบูรณ์ (อ.เขาค้อ และเมืองเพชรบูรณ์)
จ.อุตรดิตถ์ (อ.น้ำปาด)
จ.กำแพงเพชร (อ.คลองลาน)
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จ.เลย (อ.ภูเรือ)
จ.ชัยภูมิ (อ.หนองบัวแดง)
จ.มุกดาหาร (อ.หว้านใหญ่ และ อ.เมืองมุกดาหาร)
จ.นครพนม (อ.ธาตุพนม)
จ.นครราชสีมา (อ.ปากช่อง)
3. ภาคตะวันออก
จ.ฉะเชิงเทรา (อ.เมืองฉะเชิงเทรา บ้านโพธิ์ บางน้ำเปรี้ยว และบางปะกง)
จ.นครนายก (อ.ปากพลี และองครักษ์)
จ.ปราจีนบุรี (อ.ประจันตคาม และบ้านสร้าง)
จ.จันทบุรี (อ.ขลุง และแหลมสิงห์)
จ.ตราด (อ.คลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง แหลมงอบ และบ่อไร่)
4. ภาคกลาง
จ.อุทัยธานี (อ.บ้านไร่)
จ.กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ)
5. ภาคใต้
จ.นครศรีธรรมราช (อ.ฉวาง และพิปูน)
จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง)
จ.ภูเก็ต (อ.เมืองภูเก็ต และถลาง)
ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 9 ก.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
พายุไต้ฝุ่น “ไห่ขุย” (HAIKUI)
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ทะเลคลื่น 3 เมตร
สำหรับเรือเล็กในบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งไว้ด้วย อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “ไห่ขุย” (HAIKUI) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศจีน ในวันที่ 5 ก.ย.2566 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทยโดยตรง ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง
สถานการณ์น้ำท่วม
เนื่องจากฝนที่ตกหนักติดต่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทย
จังหวัดสตูล โดยเฉพาะอำเภอละงู 10 หมูบ้านใน 4 ตำบล น้ำท่วมสูง ชาวบ้านกว่า 2,500 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน พื้นที่ทางการเกษตรหลายพันไร่จมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่น้ำท่วมก็ยังขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ เพราะฝนยังตกต่อเนื่อง
การช่วยเหลือ ปภ.สตูล ร่วมกับ ชลประทานสตูล ลงพื้นที่
เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง และลงพื้นที่เตรียมการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อระบายน้ำบริเวณคลองมำบัง ตำบลควนขัน อำเภอเมืองสตูล หลังสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ และพื้นที่จังหวัดสตูล
จังหวัดพังงา ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มของตำบลบางไทรและตำบลโคกเคียน อำเภอตะกั่วป่า ระดับน้ำสูงประมาณ 50 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันต่อไป เพราะในพื้นที่ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง
การช่วยเหลือ โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนโดยเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
ทม.ตะกั่วป่า ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ด้วยเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้แล้ว แต่เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนทำให้ระดับน้ำในคลองตะกั่วป่าอยู่ในระดับสูงทำให้ระบายน้ำได้ช้า
อบต.โคกเคียน ได้จัดอาหารปรุงสำเร็จดำเนินการแจกจ่ายประชาชนที่ยังไม่สามารถจัดหาอาหารเองได้
สถานการณ์ปัจจุบันปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง และระดับน้ำทะเลลด เจ้าหน้าที่กำลังระบายน้ำออกสู่ทะเล และทุกพื้นที่ระดับน้ำท่วมลดลง
จังหวัดกระบี่ น้ำป่าไหลหลากลงคลองอิปัน อำเภอปลาย พระยา และกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดสะพานทางเบี่ยง ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลอง บริเวณชุมชนบ้านหาดถั่ว พังเสียหาย จนไม่สามารถผ่านสัญจรได้ ชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัว ถูกตัดขาด ต้องใช้เส้นทางอ้อมเดินทางออกจากหมู่บ้านกว่า 10 กิโลเมตร
จังหวัดตราด แม้ฝนจะตกน้อยลง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอบ่อไร่ เริ่มคลี่คลาย แต่มวลน้ำได้ไหลทะลักลงมาในพื้นที่อำเภอเขาสมิง ชาวบ้านที่อยู่ริมคลองเขาสมิง ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ได้รับผลกระทบนับร้อยหลังคาเรือน
สถานการณ์น้ำแล้ง
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในปีนี้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย เมื่อรวมกับสถานการณ์เอลนีโญทำมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ น้ำที่ จะมาเติมเต็มค่อนข้างน้อย คาดการณ์ว่า เดือนพฤศจิกายน2566 อาจจะมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าปี 2565 ประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศเมตร
สทนช. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ภายใต้กรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ
ช่วงก่อนฤดูแล้ง เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อกำหนดแผนการใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืช การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมทั้งประกาศพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้หน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวังและหากเกิดภัย สามารถช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือเชิงป้องกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้
ระหว่างฤดูแล้งจะวิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน พื้นที่เสี่ยงภัยและการให้ความช่วยเหลือ จะดำเนินการตลอดช่วงฤดูแล้งพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง จะมีการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เพื่อใช้สำหรับเป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาในฤดูแล้งปีถัดไป

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar