ฟังวิทยุออนไลน์

นโยบาย 30 บาท พลัส รักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่

รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการสาธารณสุขของประเทศ โดยยกระดับ ระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างระบบสาธารณสุข ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนบนแผ่นดินไทย มุ่งเน้นให้ทุกคนมีสุขภาพ กายและใจที่แข็งแรง เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมซึ่งวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมาถือเป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
แต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ”
สำหรับของคณะฯนั้นทำหน้าที่ติดตามและกำกับการดำเนินงาน
ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้น.ส.แพทองธาร
เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิด
ความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนในคณะกรรมการ พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติม 2 ตำแหน่ง คือ นายกสภา การสาธารณสุขชุมชน และนายกสภาการแพทย์แผนไทย
เปิดหารือ 5 ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายยกระดับ 30 บาท ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข
• บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่
• มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV
• สถานชีวาภิบาล
• การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม.
• สุขภาพจิต/ยาเสพติด
1 ม.ค. 67 นำร่อง 4 จังหวัด บัตรใบเดียว รักษา รพ.ได้ทุกที่
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ที่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่จะเข้ารับบริการได้จะเป็นเฉพาะคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 4 จังหวัดเท่านั้น แต่คนจังหวัดอื่นที่เดินทางไป 4 จังหวัดนี้ทั้งไปทำงาน ไปท่องเที่ยวแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารับบริการ ก็สามารถใช้รูปแบบนี้ได้ โดยครอบคลุม รพ.ทุกสังกัด ทั้งมหาวิทยาลัย ทหาร รวมถึงเอกชนอย่างร้านขายยา คลินิก แล็ป
ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา และแล็บ ที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้ สปสช.สนับสนุนงบประมาณและจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการได้เร็วขึ้น โดยจะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายชดเชยใน 3 วัน และผู้ป่วยในจ่ายชดเชยทุก 7 - 14 วัน รวมถึงจะมีการเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยนัดหมายบริการ ยืนยันตัวตน การไปรับยาใกล้บ้าน เป็นต้น โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ หรือคนพิการ เข้าร่วมบริการประชาชน
บัตรประชาชนใบเดียวใช้บริการ รพ.สังกัด สธ. 4 เขตสุขภาพ 27 จังหวัด
ประชาชนสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการเข้ารับบริการ ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ เริ่มต้นใน 4 เขตสุขภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่
• เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปางลำพูน และแม่ฮ่องสอน
• เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8 จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และ ปทุมธานี
• เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4 จังหวัด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
• เขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม 7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส
มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV
เรื่องมะเร็งครบวงจรจะครอบคลุมทั้งงานส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วย โดยจะมีการคิกออฟทีม Cancer Warrior ทั้งระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพและระดับจังหวัดในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อดูแลประชาชนทุกจังหวัดให้มีความรู้และตระหนักในการป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ 5 มะเร็งสำคัญ
• มะเร็งตับ
• มะเร็งท่อน้ำดี
• มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
• มะเร็งเต้านม
• มะเร็งปากมดลูก
รวมทั้งคิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11 - 20 ปี 1 ล้านโดส วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และคิกออฟคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับฟรี 1 แสนคน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยี PET/CT Scan SPECT/CT การแพทย์เฉพาะบุคคล การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และรังสีรักษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง
สถานชีวาภิบาล
ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยที่รับการดูแลแบบประคับประคอง ตั้งแต่ระยะแรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานมากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระค่าเดินทาง ลดความกังวลครอบครัว จะพัฒนาคนเพื่อรองรับระบบ ชีวาภิบาลเพิ่มขึ้น 5 พันคน สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน และ Telemedicine รวมทั้งจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน เช่น วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร และขยายสิทธิให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยเป้าหมาย 100 วันแรกจะจัดตั้งสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพและใน กทม. 7 เขต มีการจัดบริการ Hospital at Home หรือ Home Ward ทุกจังหวัด โดยจะมีการเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบในเดือนธันวาคม 2566
เพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม.
การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมืองระยะที่ 1โดยยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยคาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
เพิ่มเครือข่ายดูแลผู้ป่วยจิตเวช
สถานการณ์ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงนั้นพบว่า ผู้ป่วยจิตเวช 166,563 คน เสี่ยงก่อความรุนแรงประมาณ 25.4% หรือ 42,287 คน และก่อความรุนแรง 9.1% หรือ 15,066 คน ส่วนผู้ป่วยยาเสพติด 129,081 คน เสี่ยงก่อความรุนแรง 50.5% หรือ 65,206 คน และก่อความรุนแรง 23.5% หรือ 30,372 คน เพื่อให้มีการบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar