ฟังวิทยุออนไลน์

ครม. มีมติเห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 2566 เพิ่มจำนวน

1 รายการ ได้แก่ น้ำตาลทราย ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 หลังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา
เห็นควรกำหนดเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากราคาน้ำตาลทราย
ในตลาดโลกปรับสูงขึ้นจากสภาวะภัยแล้ง ความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาจำหน่ายในประเทศต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อปริมาณน้ำตาลทรายและราคาในประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้รับผลกระทบ
เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชนและทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม ขนมหวาน ที่อาจ มีการปรับขึ้นราคา ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายไม่ขึ้นราคาโดยจะมีผลภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรการกำกับดูแลราคาน้ำตาลทรายในประเทศ
1. ควบคุมราคาน้ำตาลทราย
กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน อยู่ที่
- น้ำตาลทรายขาว กิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท
- น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 20 บาท
กำหนดราคาจำหน่ายปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่
- น้ำตาลทรายขาว กก.ละ 24 บาท
- น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25 บาท
2. การกำหนดแนวทางควบคุมการส่งออก
กำหนดการส่งออกน้ำตาลทรายตั้งแต่ 1,000 กิโลกรัม ขึ้นไป ต้องขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีเลขาธิการ สอน.เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแล เพื่อป้องกันลักลอบการส่งออก ให้น้ำตาลทรายไม่ขาดแคลน และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยด้วย
เตรียมของบกลาง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย
ครม. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอ้อยในแต่ละช่วงเวลา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับไปศึกษาดูผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ควบคู่กับติดตามค่าชดเชยต่าง ๆ ที่เกษตรกรควรจะได้รับ พร้อมนำมาตรการการช่วยเหลือมาเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ภายใน 2 สัปดาห์นี้
น้ำตาลในประเทศไม่ขาดแคลน
ปัจจุบันราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงกว่าราคาน้ำตาลในไทย ซึ่งตามปกติของกลไกตลาดเสรี ผู้ขายจะเลือกส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศเพื่อให้ได้ราคาดีขึ้น รวมถึงชาวไร่เองก็อยากให้นำน้ำตาลไปขายตลาดต่างประเทศ เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล หากขายได้ราคาดีผลประโยชน์ก็จะกลับมาแบ่งกันทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงแบ่งส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสำหรับสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดการสร้างมลพิษ
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มีการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลสำรองน้ำตาลไว้ประมาณ 1 เดือนเผื่อฉุกเฉิน หรือ 2 ล้านกระสอบ กระสอบละ 100 กิโลกรัม ในช่วงรอยต่อของฤดูกาลหีบอ้อย ช่วงเดือน ธ.ค.2566 ที่เพิ่งเริ่มมีน้ำตาลฤดูกาลใหม่ออกมา
ทั้งนี้ ไทยมีการผลิตน้ำตาลราว 10 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนการส่งออก 70 - 75% โดยส่วนที่เหลือเป็นการบริโภคในประเทศ 2.5 - 2.6 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิต 40 - 50% ขณะที่เหลือเป็นน้ำตาลที่ขายในห้างสรรพสินค้า

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar