ฟังวิทยุออนไลน์

Quick win ผลงานรัฐบาล 60 วัน



ในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเตรียมจัดแถลงผลงานเพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินมาตรการ Quick Win ผ่านรายการ “Chance of Possibility ผ่านนโยบายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว Quick Win 3 ประการ คือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ดังนี้
1. ด้านพลังงาน
1.1 ปรับลดราคาค่าไฟฟ้า 3 เดือน
เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ครม. มีมติให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือเพียง 4.10 บาทต่อหน่วยและได้ประกาศปรับลดลงเพิ่มเติมอีกครั้งในหลังจากการประชุม ครม. (18 ก.ย. 66) ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย หรือเบ็ดเสร็จแล้วลดลงไป 0.46 บาท โดยมีผลตั้งแต่งวดบิลเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566
1.2 ลดราคาน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95
ครม. มีมติให้ปรับลดราคาดีเซลลง 2.50 บาท/ลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. - 31 ธ.ค. 66 และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ครม.มีมติให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินลง 1 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 - 31 ม.ค. 2567
1.3 ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม LPG
ครม. มีมติตรึงราคาขายปลีก ก๊าซหุงต้ม LPG ขนาด 15 กิโลกรัม ไว้ที่ 423 บาทต่อถัง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66
2. ด้านการคมนาคม
ปรับลดราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นำร่องสายสีแดง จำนวน 4 สถานี (สถานีกลางบางซื่อ - สถานีรังสิต) - สายสีม่วง จำนวน 10 สถานี (สถานีคลองบางไผ่ - สถานีเตาปูน) มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
3. ด้านการเกษตร
3.1 มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ตามนโยบายรัฐบาล
ระยะที่ 1 ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี
- มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านคน ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท
- การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. (ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ) โดย ธ.ก.ส. ร่วมกับราชการและหน่วยงานภายนอกจัดอบรมเกษตรกร คู่ขนานกับมาตรการพักชำระหนี้ เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุน ปรับเปลี่ยน หรือขยายการประกอบอาชีพ มีความสามารถ ในการแข่งขันและเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้
3.2 ธนาคารน้ำใต้ดิน
จากนโยบายของรัฐบาล “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” ที่ผลักดันโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และการเพิ่มระดับน้ำในดินเพื่ิอการนำน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง โดยธนาคารน้ำใต้ดิน จะทําหน้าที่เป็นเครื่องมือสําคัญในการจัดการทรัพยากรน้ำพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยให้คนในพื้นที่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้งได้ และยังช่วยลดการพึ่งพาการสูบน้ำบาดาลที่ไม่ยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีการนำร่องดำเนินการแล้วที่จังหวัดชัยนาท โดยมีโครงการธนาคารน้ำใต้ดินครอบคลุมทั้งจังหวัดจำนวน 834 แห่ง และมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน (War Room) ด้วย ซึ่งในปี 2567 มีแผนการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่จังหวัดชัยนาทเพิ่มเติมอีก 56 แห่ง
3.3 จัดสรรพื้นที่หน่วยทหารให้ประชาชนใช้ประโยชน์
ดำเนินนโยบายนำที่ดินภายใต้การดูแลของกองทัพที่เกินความจำเป็น มาให้ประชาชนใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การแก้ปัญหาทางสังคม ปัญหาที่ดิน ทำกิน โดยเฉพาะการใช้ที่ดินเกษตรใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างความเข้มแข็ง และดำเนินโครงการหนองวัวซอโมเดล ภายใน 1 เดือนครึ่งได้พื้นที่กลับมาถึง 9,276 ไร่ และจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งจะส่งมอบเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในวันที่ 25 ธันวาคม 2566
3.4 ผลักดันเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนด
เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน และพิจารณาเอกสารสิทธิ ให้เป็นโฉนด ผ่านมาตรการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4 - 01 เพื่อยกระดับ ให้เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมที่มีการถือครองทำประโยชน์เกิน 5 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย มีเอกสารสิทธิ รวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ โดยจะเริ่มแจกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม (สัญลักษณ์ครุฑสีเขียว) ฉบับแรกวันที่ 15 ม.ค. 2567 และจะเริ่มทยอยออกโฉนดให้พี่น้องเกษตรกรทุกจังหวัดภายใน 5 ปี
4. ด้านสาธารณสุข
ขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพโดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เร่งขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลักเร่งด่วน (จาก 13 ประเด็น) ดังนี้
4.1 บัตรทองรักษาทุกโรคนำร่อง 4 จังหวัด
- บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ในหน่วยบริการ รพ.ทุกสังกัด เช่น รพ. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทหาร สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เช่น ร้านยา คลินิก แล็บ เป็นต้น นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส
- 4 เขตสุขภาพครอบคลุมพื้นที่ 27 จังหวัด ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว ใช้บริการ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทุกที่
4.2 รักษามะเร็งครบวงจร และการให้วัคซีน HPV
ซึ่งจะครอบคลุมมะเร็งสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่
- มะเร็งปากมดลูก โดยเตรียมพร้อมฉีดวัคซีน HPV ให้นักเรียน/นักศึกษาหญิงทั่วประเทศ (อายุ 11 - 20 ปี) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นี้ และจะกระจายวัคซีนสู่พื้นที่ทั่วประเทศ รวม 1.43 ล้านโดส เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2567
- มะเร็งท่อน้ำดี โดยการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธี Urine Rapid Test และคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี ด้วยอัลตราซาวด์
- มะเร็งตับ โดยการคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี และซี พร้อมให้การรักษา ผู้ที่ผลการคัดกรองเป็นบวก

นอกจากนี้ยังมีการคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ ฟรี 1 แสนคนที่จะเริ่มดำเนินการภายในเดือนพฤศจิกายนนี้อีกด้วย
4.3 สถานชีวาภิบาล การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบการประคับประคอง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดภาระค่าเดินทาง ลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาล
- ดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง ให้เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานมากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต
- พัฒนาคนเพื่อรองรับระบบชีวาภิบาลเพิ่มขึ้น 5,000 คน
- สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน Telemedicine รวมทั้งจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน
- จัดตั้งสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพ และใน กทม. 7 เขต
- เปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบภายในเดือนธันวาคมนี้
4.4 การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. “กรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล" โดยจะนําร่อง รพ.ประจําเขต ดอนเมืองระยะที่ 1 โดยยกระดับ รพ. ทหารอากาศ (สีกัน) เป็น รพ.ทุติยภูมิ ขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็น รพ. ผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับ รพ.แม่ข่าย และเตรียมพร้อม รพ.ราชวิถี 2 เป็น รพ. รับส่งต่อผู้ป่วย
4.5 การดูแลเรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติด
เพื่อดำเนินการปราบปรามผู้อิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย รัฐบาลพร้อมดำเนินงานร่วมกับประชาชนทุกภาคส่วน โดยยึดหลักการเปลี่ยน ‘ผู้เสพ’ เป็น ‘ผู้ป่วย’ ให้เข้ารับการบำบัดอย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ
- จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวครอบคลุม 76 จังหวัด ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ 1,957 เตียง โดยจะเปิดให้บริการทั่วประเทศ 1 ธันวาคมนี้
- จัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด ปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่ง ใน 58 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 76.32 ของทั่วประเทศ

- จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ จากโรงพยาบาลชุมชนทั้งหมด 776 แห่ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80.67
5. ด้านการท่องเที่ยว
ยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 66 - 29 ก.พ. 67 ควบคู่กับการดูแล รักษาความปลอดภัยให้ชาวต่างชาติ โดยกำหนดประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าไว้ ดังนี้ จีน/คาซัคสถาน อยู่ไทยได้ไม่เกิน 30 วัน รัสเซีย อยู่ไทยได้ไม่เกิน 90 วัน และอินเดีย/ไต้หวัน อยู่ไทยได้
ไม่เกิน 30 วัน
6. ด้านกฎหมาย
6.1 การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ตั้งเป้าการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และ พยายามศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อที่ในเดือนมกราคมปี 2567 หรือไม่เกินไตรมาสแรกจะต้องนำเข้าเสนอให้ ครม.อนุมัติ แล้วจึงส่งต่อให้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อดำเนินการจัดทำประชามติได้
6.2 พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
นายกฯ ได้มีข้อสั่งการให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เร่งรัดการนำ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน (ประชาพิจารณ์) และนำมาให้ ครม. พิจารณาเพื่อส่งต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎรภายใน 15 วัน นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบเข้าไปร่วมประมูลแข่งขันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2028 โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำชัดว่าจะผลัดดันร่างกฎหมายนี้อย่างเต็มที่
6.3 พ.ร.บ. อากาศสะอาด
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 นายกฯ ได้สั่งการให้พลเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำ พ.ร.บ. อากาศสะอาดเข้า ครม. ภายใน 15 วัน เพื่อจะได้รีบส่งต่อให้กับรัฐสภาพิจารณา เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง PM2.5 ที่จะเริ่มรุนแรงในช่วงมกราคมปีหน้าจึงต้องเร่งหาทางป้องกัน
7. นโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
กำหนดแนวทางการดำเนินการนโยบายทางการศึกษาไว้ในกรอบ การบริหารและพัฒนาประเทศ เพื่อเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน ผ่านการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมปฏิรูปการศึกษา
- สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด
- ส่งเสริมให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ
- กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนอย่างทั่วถึง มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม กับผู้เรียนและช่วงวัย ใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่
- ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูทั้งประเทศ รวมไปถึงครูแนะแนว เพื่อช่วยให้คำแนะนำด้านเนื้อหาวิชาการและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเรียนและประกอบอาชีพ ตลอดจนดูแลสุขภาพกาย-จิตใจ
8. สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ สร้างอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ (Soft power) ยกระดับเศรษฐกิจ
- จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่างๆ ผ่าน คอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขา
- ยกระดับแรงงานทักษะขั้นสูง ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ สำหรับการจัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ (One Family One Soft Power : OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA)
- มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน สู่แรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์
- สามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างการเติบโต ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
9. Digital Wallet 10,000 บาท
นโยบายที่ได้รับความสนใจจากประชาชน และเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ หรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่ข้อสรุป เกี่ยวกับกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิ รัศมี หรือระยะ ที่ครอบคลุมการใช้งาน และแพลตฟอร์ม ซึ่งในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ จะมีการแถลงเกี่ยวกับความชัดเจนและข้อสงสัยทั้งหมด โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
แนวทางการสื่อสาร
1. ขยายผลความสำเร็จ/ติดตามความคืบหน้านโยบายเร่งด่วนด้านต่าง ๆ
2. นำเสนอตัวอย่างผลลัพธ์หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงกับประชาชน
3. ทำความเข้าใจในรายละเอียดของนโยบายตามกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากนโยบายที่ออกมา


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar