ฟังวิทยุออนไลน์

ไฟเขียวเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร

วันที่ 15 ธ.ค. นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อนุญาตให้เปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทั่วประเทศ 22 ล้านไร่ จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะเริ่มทยอยเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
รู้จักที่ดิน สปก.
"ที่ดิน ส.ป.ก." หรือที่ดิน "ส.ป.ก. 4-01" คือ เอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน
ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ระบุ ผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ
1. เกษตรกร
2. ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
– ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี
– จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า
– เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
3. สถาบันเกษตรกร
– กลุ่มเกษตรกร
– สหกรณ์การเกษตร
– ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
ผู้มีสิทธิยื่นคำขอเปลี่ยนโฉนด
•เกษตรกรที่ถือเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. อยู่แล้ว และยังใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยได้รับสิทธิ์ตามเอกสารสิทธิ์ที่ตนถืออยู่ แต่ยังไม่สามารถซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้ในระยะเวลา 5 ปีจากวันที่ได้รับโฉนด
•กรณีที่มีความจำเป็นในการกู้ยืม (การจำนอง) หรือจำเป็นจะต้องขายที่ดินที่ได้รับโฉนดนั้นก่อนเวลา 5 ปี ให้ดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน (ที่จะจัดตั้งขึ้น) โดยธนาคารที่ดินจะคิดราคาที่ดินตามราคาประเมินของที่ดินที่มีโฉนด
•เกษตรกรที่ยังไม่ได้เป็นผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. (หรือเป็น ผู้ซื้อ/เปลี่ยนมือที่ดิน ส.ป.ก.) เกษตรกรจะได้รับการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน หาก (ก) เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำการเกษตรต่อเนื่องมา 10 ปีขึ้นไป และ (ข) มีเอกสารหรือพยานการทำข้อตกลง/การยินยอมจากผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. รวมถึง (ค) เกษตรกรผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท เกษตรกรดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ
1) การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่
2) สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด
3) ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด
4) สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ
5) ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี
สถานที่ยื่นเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนด
•ส.ป.ก. ทุกจังหวัด
•หน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ของ ส.ป.ก.
•ระบบ Online Web site ส.ป.ก. www.alro.go.th
เอกสารที่ต้องเตรียม
1. ส.ป.ก.4-01 (ฉบับผู้ถือ) หรือ สำเนาสัญญาเงินกู้ ธ.ก.ส. (กรณีกู้เงิน ธ.ก.ส.)
2. บัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
มอบของขวัญปีใหม่ ยกระดับชีวิตและคุณภาพของเกษตรกร
•เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้และจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
•ส.ป.ก. ยังเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งถนน แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ ระบบไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar