ฟังวิทยุออนไลน์

ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์ฤดูฝุ่น

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้มีการประกาศการเข้าสู่ฤดูฝุ่น และได้จับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง ซึ่งเป็นการควบคุมที่ต้นตอของฝุ่น ในเชิงรุกจะมีการตรวจจับจุดความร้อน (Hotspot) เพื่อสั่งการไปยังศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด ให้เข้าไประงับยับยั้งต้นตอ
สถานการณ์ฝุ่นละออง ปี 2567
การประเมินสถานการณ์ฝุ่นละอองในปี 2567 จากสถานการณ์เอลนีโญจะมีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนของปี 66 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูร้อนของปี 67 อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าปกติ ทำให้มีอากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ปริมาณฝนรวมของประเทศมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่า ค่าปกติ ร้อยละ 10 ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในปีนี้จะมีความรุนแรงขึ้น
(5 ม.ค.67) นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึง สถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทยว่า กำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่น ซึ่งมีผลมาจากความกดอากาศสูง อัตราการระบายฝุ่นต่ำ ลมสงบทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ไปจนถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสานโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
สถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่วิกฤต
•พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ในช่วงสภาวะอากาศปิด ปริมาณฝุ่นละอองส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากได้รับอิทธิพลจากการเผาในพื้นที่เกษตร ปริมาณฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า หากมีการเผาในพื้นที่ป่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มขึ้น 6 เท่า และเมื่อได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ปริมาณฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มขึ้น 9 เท่าของสภาวะอากาศปิด
•กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในสถานการณ์ปกติปริมาณฝุ่นละอองส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อได้รับอิทธิพลจากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่มีสภาวะอากาศปิด ลมสงบ อากาศไม่ยกตัว ทำให้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น 2 เท่า หากเกิดการเผาหรือผลกระทบการหมอกควันข้ามแดนจะส่งผลให้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น 3 เท่าของสภาวะปกติ
มาตรการรับมือ 3 ระยะ ได้แก่
•ระยะเตรียมการ : หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
-กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีฉุกเฉิน เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ในระดับวิกฤต หรือเกิน 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
-แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นให้ทั่วถึง เท่าเทียม ทันท่วงที
-จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น หน้ากากอนามัย รวมถึงยารักษาโรคเพื่อรองรับสถานการณ์
-ประชาสัมพันธ์สื่อสารเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง เพื่อสร้างการตระหนักในภัย ให้ประชาชนตื่นตัว และป้องกันสุขภาพ
•ระยะเผชิญเหตุ : หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
-ควบคุมการเข้าป่า ตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด/จุดเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและการเข้าออกของประชาชนที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
-ลาดตะเวนแจ้งเหตุไฟไหม้ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ชุมชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ป่าที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
-เชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
-ประกาศปิดป่าชั่วคราวในพื้นที่ล่อแหลม
•ระยะบรรเทา
-กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการยกระดับคุณภาพอากาศ
พร้อมกำหนดมาตรการภาพรวมที่จะดำเนินงานต่อเนื่องตลอด ทั้งปี เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ดังนั้น ในช่วงสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองมีค่าสูงนั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ คือ
•เฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
•ติดตามสถานการณ์ จากแอปพลิเคชัน Air4thai และแฟนเพจศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อใช้ประกอบการดูแลตนเอง และวางแผนการดำรงชีวิตโดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้ง
ล่าสุด ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ถือเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
ที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 10 – 12 ม.ค. นี้ นายกฯ จะเดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยรัฐบาลยืนยัน จากทุกมาตรการทั้ง ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เน้นเร่งสร้างอากาศสะอาด สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar