ฟังวิทยุออนไลน์

เปิดเงื่อนไขครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เป็นผู้เสพ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ลงนามโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีรายละเอียด ดังนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
-ในกฎกระทรวงนี้ "หน่วยการใช้" หมายความว่า เม็ด ซอง ขวด หรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง
-การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประกอบด้วย
1.แอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
2.เอ็น - เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,255 มิลลิกรัม
3.เฮโรอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม
4.เดกซ์โทรไลเซอร์ไจด์ หรือแอลเอสดี (LSD) หรือแอลเอสดี - 25 (LSD 25) ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
5.เมทแอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม กรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
6.เมทิลีนไดออกซีแอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
7.3,4 - เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ประกอบด้วย
1.โคคาอีน มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 200 มิลลิกรัม
2.ฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ประกอบด้วย
1.พืชฝิ่นหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ ของฝิ่น น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15,000 มิลลิกรัม
2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควายหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135,000 มิลลิกรัม
3.สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ที่เป็นสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 น้ำหนักสุทธิ
ไม่เกิน 30,000 มิลลิกรัม กรณีเป็นของเหลวปริมาตรสุทธิไม่เกิน
30 มิลลิลิตร
วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ประกอบด้วย
1.ฟลูอัลพราโซแลม ปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 650 มิลลิกรัม
2.ฟีนาซีแพม ปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,640 มิลลิกรัม
วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประกอบด้วย
1.อัลพราโซแลม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม
2.คีตามีน กรณีเป็นของเหลวปริมาตรสุทธิไม่เกิน 10 มิลลิลิตร หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 10,000 มิลลิกรัม กรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก
มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
3.มิดาโซแลม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิ
ไม่เกิน 2,080 มิลลิกรัม
4.ไนเมตาซีแพม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,890 มิลลิกรัม
5.ไนทราซีแพม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,560 มิลลิกรัม
6.เฟนเทอร์มีน มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม
ปราบผู้ค้า รักษาผู้เสพ ครอบครองเม็ดเดียวถ้าส่อแวว “ค้า” คือ “ติดคุก”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกระแสความเข้าใจผิดที่ปรากฏทางสื่อโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 โดยระบุว่าการเสพยาเสพติดต่อไปนี้ไม่ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ว่า การออกกฎกระทรวงครั้งนี้ เป็นมติเอกฉันท์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประเภทยาบ้า โดยผู้ที่มียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องนำไปบำบัดรักษาให้หาย ทั้งนี้ขึ้นกับความสมัครใจของผู้นั้น ถ้าไม่สมัครใจรับการบำบัดจะถูกดำเนินคดีข้อหา “ครอบครองเพื่อเสพ” ตามมาตรา 164 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติการณ์ที่เป็นการครอบครองเพื่อขาย ไม่ว่าจะกี่เม็ด ต้องถูกดำเนินคดี และลงโทษตามกฎหมายฐานเป็นผู้ค้า
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยกฎหมายใหม่ 'ยาบ้า 5 เม็ด' ยังมีความผิดฐานครอบครองเพื่อเสพ โทษทั้งจำทั้งปรับ
พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า การเสพยาเสพติดยังคงมีโทษอยู่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104 , 162 คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และดำเนินการเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วน ก็จะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 113 ทั้งนี้ บทลงโทษทางกฎหมายยังคงมีอยู่
ซึ่งกฎหมายนี้มีเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดโดยไม่เอาผิดทางอาญา หรือลดการเป็นอาชญากรรมของผู้เสพ (decriminalization) “มองผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” โดยใช้กระบวนการทางสาธารณสุขและสุขภาพในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติด
ส่วนการครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อยไว้เพื่อเสพ เช่น ยาบ้า
ไม่เกิน 5 เม็ด หรือยาไอซ์ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือยาเค มีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ยังคงเป็นความผิดฐาน "ครอบครองเพื่อเสพ" ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 , 164 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา และดำเนินการเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วนก็จะไม่มีความผิด ตาม ม.113 เช่นกัน
ทั้งนี้ รองโฆษก ตร. ขอเรียนประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชนได้รับทราบว่า การเสพยาเสพติดทุกชนิดประเภท การครอบครองยาเสพติดทุกชนิดประเภท ไม่ว่าจำนวนเท่าใดยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย ถูกจับกุม ดำเนินคดีได้
อ่านกฎกระทรวงฉบับเต็มได้ที่ลิงก์ด้านล่าง : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/20444.pdf
นายกฯ ยืนยัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง เรื่องยาเสพติด หลังมีประเด็นเรื่องการประกาศให้ผู้มียาเสพติด
5 เม็ด เป็นผู้ป่วยซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอแค่เม็ดเดียว ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ได้ทำแค่เรื่องประกาศ 5 เม็ด คือ ผู้ป่วยเท่านั้น แต่หากดูแล้วไม่เหมาะสมจะมีการแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง รวมถึงการตัดวงจรการค้าข้ามชายแดน การบำบัดผู้เสพ เป็นผู้ป่วยไม่ใช่ผู้มีความผิด หากเสพแล้วออกมาจะมีการจัดหาอาชีพคืนสู่สังคมที่เหมาะสม ส่วนของกลางยาเสพติดที่จับกุมหลายสิบล้านเม็ดถึงร้อยล้านเม็ด จะพยายามทำให้เวลาในการทำลายยาเสพติดให้สั้นลง

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar